นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันนี้ได้ฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีการระบาดของโรคไข้หวัดนกระดับกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2560 ผ่านระบบ VDO Conference ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุข 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิษณุโลก หนองคาย นครปฐม สระแก้ว และกาญจนบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมในกระบวนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ประเด็นการสั่งการ การประสานงาน การบริหารจัดการ รวมทั้งการสื่อสารความเสี่ยงกับบุคลากรและประชาชน
"ไทยไม่พบผู้ป่วยมานานกว่า 11 ปี แต่ยังเสี่ยง เนื่องจากยังคงพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคใกล้เคียง" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ทั้งนี้มีสาเหตุมาจาก 1.การเลี้ยงสัตว์ปีกในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหรือการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศ 2.ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตที่มีสัตว์ปีกหลายชนิดอยู่รวมกัน เช่น เป็ด ไก่ และนก 3.กิจกรรมการชนไก่ในหลายพื้นที่ มีความเสี่ยงที่เกิดการติดเชื้อในสัตว์ปีกและผู้เลี้ยงไก่จากการสัมผัสดูแลไก่ 4.การเลี้ยงสัตว์อย่างหนาแน่น การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง และสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้าน 5.ฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มที่ดี หรือการเลี้ยงระบบเปิดอาจติดต่อผ่านทางนกธรรมชาติได้ รวมถึงการเคลื่อนย้ายของนกอพยพจากซีกโลกเหนือไปยังซีกโลกใต้ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในทางผ่านของเส้นทางอพยพ
ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั่วโลกมีดังนี้ 1.ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ตั้งแต่ปี 2546-19 ธันวาคม 2559 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 856 ราย เสียชีวิต 452 ราย ใน 16 ประเทศ ในปี 2559 พบผู้ป่วยจำนวน 10 ราย และเสียชีวิต 3 ราย ในประเทศอียิปต์ 2.ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N6 ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 7 ธันวาคม 2559 พบผู้ป่วยยืนยันจำนวน ทั้งสิ้น 16 ราย เสียชีวิต 6 ราย ในประเทศจีน 3.ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 พบผู้ติดเชื้อยืนยันทั้งสิ้น 809 ราย เสียชีวิต 322 ราย และตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2560 พบผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย
สำหรับประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547-2549 พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก 25 ราย ตาย 17 ราย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกจะมีประวัติการสัมผัสกับไก่ป่วย/ไก่ที่ตายผิดปกติ