นายกฯไม่หนักใจผลประเมินคอร์รัปชัน ย้ำรัฐมุ่งทำงานหนักต่อต้านทุจริต-แก้ไขจุดอ่อน

ข่าวทั่วไป Saturday January 28, 2017 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้ประกาศค่าดัชนีคอร์รัปชัน CPI ประจำปี 2559 โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับ 101 จากที่เมื่อปีที่แล้วอยู่ในอันดับที่ 76 ว่า ท่านนายกฯ ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด และไม่หนักใจที่ผลออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะแม้ดูเหมือนว่าอันดับจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่เมื่อพิจารณาคะแนนดิบจะพบว่า ไทยมี 35 คะแนน ลดลงจากปีที่แล้วที่ได้ 38 เพียง 3 คะแนน ประกอบกับจำนวนประเทศที่ถูกนำมาพิจารณามีมากขึ้นถึง 176 ประเทศ จากเดิมมีเพียง 168 ประเทศ และหลายประเทศมีคะแนนเท่ากัน ทำให้อันดับของไทยขยับลงไป นอกจากนี้ การคิดคะแนนนั้นได้นำข้อมูลมาจากแหล่งต่างๆ ถึง 13 แห่ง แต่เกี่ยวข้องกับไทยเพียง 7-8 แห่ง นอกนั้นไม่เกี่ยวข้อง แต่นำมาสรุปด้วย เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีก็ไม่ละเลยที่จะพิจารณาถึงเรื่องที่เป็นจุดอ่อน เช่น ภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐในสายตาของนักธุรกิจเกี่ยวกับการจ่ายสินบนนำเข้า ส่งออก และการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมีคะแนนลดลง โดยได้กำชับไปยังทุกหน่วยงานว่า จะต้องไปดูว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และหาทางแก้ไขเพื่ออุดรูรั่วให้ได้อย่างเด็ดขาด

รวมทั้งเน้นการสร้างความเข้าใจกับนักธุรกิจถึงมาตรการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล และรณรงค์ให้ทุกฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ลงมือแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่คิดหรือพูด แต่ต้องไม่ยอมให้มีการรับสินบน ช่วยกันสอดส่องไม่ให้ใครกล้าโกง และไม่ปล่อยให้เป็นภาระของรัฐบาลหรือใครคนหนึ่งคนใด เพื่อตัดวงจรอุบาทว์ของปัญหา

สำหรับผู้ที่ต้องการใช้เรื่องนี้สร้างกระแสโจมตีหรือลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล อยากให้ไตร่ตรองให้รอบคอบเพราะจะส่งผลเสียและสร้างความบอบช้ำต่อประเทศโดยรวม โดยยืนยันว่า 2 ปีกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับปัญหา โดยสถานการณ์คอร์รัปชันเมื่อสิ้นสุดปี 59 ซึ่งม.หอการค้าไทยได้สำรวจการรับรู้ของประชาชนในประเทศพบว่า ดีขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 ปี ซึ่งสวนทางกับการประกาศขององค์กรต่างชาติ และเมื่อพิจารณาข้อมูลโดยละเอียดแล้วจะเห็นว่า ไทยมีทั้งคะแนนที่ดีขึ้นและลดลงในแต่ละตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดที่ดีขึ้น คือ ภาพลักษณ์เรื่องการติดสินบนและคอร์รัปชันที่ประเมินโดย IMD และภาพลักษณ์เรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของรัฐหาประโยชน์ส่วนตัวของ World Justice Project Rule of law เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ