พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำ โดยประสานข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเขื่อนที่มีน้ำใช้การในปริมาณน้อย
โดยจากข้อมูลสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำหลังสิ้นสุดฤดูฝน และเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พ.ย. 59 จากข้อมูลของกรมชลประทาน พบว่า 10 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และ รักษาระบบนิเวศ แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ มีจำนวน 5 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ และ เขื่อนปราณบุรี ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และ พืชไรพืชผักเท่านั้น แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการปลูกข้าวนาปรังได้ จำนวน 5 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนแก่งกระจาน และ เขื่อนบางลาง ซึ่งข้อมูลข้างต้นทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ จะใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนให้การช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่จะได้รับผลกระทบล่วงหน้าและทันต่อสถานการณ์
สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมน้ำใช้การได้ใน 34 เขื่อนหลัก ณ ปัจจุบัน ( 30 ม.ค. 60) มีน้ำใช้การได้ 23,947 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 9,269 ล้าน ลบ.ม. ปีที่แล้ว ณ วันเดียวกัน มีน้ำใช้การได้ 14,678 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ณ ปัจจุบัน ( 30 ม.ค. 60) มีน้ำใช้การได้ 8,252 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 4,795 ล้าน ลบ.ม. โดยปีที่แล้ว ณ วันเดียวกัน มีน้ำใช้การได้ 3,457 ล้าน ลบ.ม. และ มีมากกว่า ณ วันเดียวกันของปี 2556, 2557 และ 2558 ซึ่งมีน้ำใช้การได้ 6,331 , 6,460 และ 6,288 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ดังนั้น ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จึงไม่น่าจะมีปัญหา
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ในเขื่อนลำตะคองว่า คณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ได้มีการประชุมเรื่องการจัดสรรน้ำ และการดำเนินการในช่วงฤดูแล้ง ปี 2559/60 มีมติให้ระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคองในอัตราไม่เกิน 5 ลบ.ม./วินาที หรือ ไม่เกินวันละ 0.432 ล้าน ลบ.ม. เพื่อจัดสรรน้ำในการอุปโภค-บริโภค การประปา จำนวน 81 แห่งซึ่งมีความต้องการใช้น้ำวันละ 0.213 ล้าน ลบ.ม. การรักษาระบบนิเวศ และ คุณภาพน้ำในลำตะคอง/ลำบริบูรณ์ ไม่สามารถสนับสนุนภาคเกษตรได้ โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 30 ม.ค. 60 เขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 87 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำในอัตรา 4 ลบ.ม./วินาที (0.345 ล้าน ลบ.ม./วัน) จะมีน้ำใช้ได้อีก 252 วัน หรือประมาณ 8 เดือนกว่า ดังนั้น จึงมั่นใจว่าจะมีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคใช้อย่างเพียงพอจนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 60 แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ปริมาณน้ำใช้การเป็นไปตามแผน ขอให้ทุกส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงฤดูฝนเดือนสิงหาคมต่อเนื่องมาจนถึง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูแล้งและฤดูการจัดสรรน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 ปรากฏว่ามี 10 เขื่อนใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนบางลาง ซึ่งมี 5 เขื่อนที่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ คือ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ และเขื่อนปราณบุรี
ส่วนอีก 5 เขื่อนที่เหลือประกอบไปด้วย เขื่อนลำนางรอง เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนบางลางนั้น มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และพืชไร่พืชผัก(พืชใช้น้ำน้อย) แต่ไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้
สำหรับเขื่อนลำตะคอง ณ วันที่ 1 พ.ย.59 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพียง 87 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยมาก ต้องวางแผนจัดการน้ำอย่างรัดกุม ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ของโครงการเขื่อนลำตะคอง ได้มีการประชุมหารือและลงมติเห็นชอบร่วมกันว่า ให้มีการระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคองไม่เกินวันละ 432,000 ลูกบาศก์เมตร สำหรับอุปโภคบริโภค การผลิตประปา รักษาระบบนิเวศ และรักษาคุณภาพน้ำ ในลำตะคองและลำบริบูรณ์ ตลอดในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60
ปัจจุบัน(30 ม.ค.60)เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 87 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ สามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และโดยเฉพาะการส่งน้ำเพื่อผลิตประปา จำนวน 81 แห่ง ที่มีความต้องการใช้น้ำรวมกันทั้งสิ้นวันละประมาณ 213,000 ลูกบาศก์เมตร หากใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่ได้วางไว้ ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนลำตะคอง จะเพียงพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้อย่างไม่ขาดแคลน และเป็นการสร้างความมั่นคงยั่งยืนด้านการใช้น้ำ ขอให้ทุกส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปด้วย