นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวประเทศกัมพูชามีการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 และมีการกำจัดไก่จำนวนหนึ่งตามมาตรการป้องกันโรคนั้น กรมควบคุมโรคได้เตรียมการป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มที่ โดยดำเนินการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังทั้งในสัตว์ปีกเลี้ยง นกในธรรมชาติ และในคนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในบริเวณแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่มีรายงานการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในคนมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน แต่กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเร่งรัดดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเน้นการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับในพื้นที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยและส่งเสริมความตระหนักในการป้องกันตนเองของประชาชน
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก เนื่องจากมีโอกาสที่โรคจะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางการเคลื่อนย้ายสัตว์และการเดินทางของประชาชนบริเวณแนวชายแดน ซึ่งประเทศไทยยังคงเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงโรคในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์ปีกที่อยู่ตามชายแดนติดกับประเทศที่มีการระบาด และตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหลายชนิดไว้รวมกัน เช่น เป็ด ไก่ นกพิราบ และห่าน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ดังนี้ 1.สำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศ ขณะนี้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ได้ห้ามการเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด แต่ขอให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีก ไม่ไปฟาร์มสัตว์ปีกหรือตลาดสดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต หมั่นล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก 2.ประชาชนทั่วไปขอให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ก่อนและหลังปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังจากดูแลสัตว์หรือหลังการดูแลผู้ป่วย 3.ปิดปากและจมูกเวลาไอด้วยหน้ากากป้องกันโรค ผ้าเช็ดหน้าหรือแขนเสื้อ 4.สามารถรับประทานไก่เป็ดได้อย่างปลอดภัย แต่ต้องระมัดระวังการชำแหละ และต้องปรุงให้สุก สำหรับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือป่วยตายไม่ควรนำมารับประทาน 5.หากไปตลาดสด ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีชีวิต รวมทั้งอุปกรณ์ที่บรรจุสัตว์ หากพบซากสัตว์ปีกให้แจ้ง อสม. ทันที และหากมีสัตว์ปีกตายผิดปกติ ให้รายงานเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดระบาดของโรคโดยเร็วที่สุด และทำลายซากสัตว์ปีกอย่างถูกวิธี 6.หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกให้สวมหน้ากากป้องกันโรค แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีการระบาดของโรคไข้หวัดนก ระดับกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ผ่านระบบ VDO Conference เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการสื่อสารความเสี่ยง และด้านการบริหารจัดการ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีสถานการณ์หรือมีข้อมูลเพิ่มเติม ทางกระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งให้ประชาชนทราบเป็นระยะ