รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ลุ่มน้ำยมประเมินสถานการณ์น้ำ-สร้างความเข้าใจเกษตรกรในพื้นที่ ป้องกันภาวะภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Friday February 10, 2017 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการป้องกันช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ จ.สุโขทัย พิษณุโลก และ พิจิตร

ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำยมไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ เขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่เช่นลุ่มน้ำอื่นๆ ทำให้ฤดูน้ำหลากเกิดน้ำท่วม และในฤดูแล้งน้ำไม่พอใช้ จึงต้องอาศัยน้ำต้นทุนจากแม่น้ำยม และ แหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ซึ่งมีน้ำรวมกัน 206 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 241,898 ไร่ แบ่งเป็น จ.สุโขทัย มีน้ำใช้การได้ 175 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 190,898 ไร่ จ.พิษณุโลก มีน้ำใช้การได้ 23 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 11,000 ไร่ และ จ.พิจิตร มีน้ำใช้การได้ 8 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูก 40,000 ไร่ ซึ่งในส่วนพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวสามารถดูแลได้ไม่เสียหาย

สำหรับแหล่งน้ำใน จ.สุโขทัย และ พิษณุโลก จากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 59 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้มลิงเพื่อรับน้ำหลาก และเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยก่อสร้างคลองไส้ไก่ชักน้ำเข้าแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง และก่อสร้างคลองชักน้ำเข้าแก้มลิง 3 แห่ง คือ บึงตะเคร็ง บึงระมาณ และ บึงขี้แร้ง ทำให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งนี้ เป็นการชดเชยเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมไปอีกทางหนึ่ง

ในส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้ปลูกข้าวนั้น ได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการเช่นเดียวกับปีที่แล้ว ให้เกษตรกรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีรายได้ในช่วงฤดูแล้งโดยใช้งบปกติและมุ่งเน้นพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ ต.ค. 59 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้รายงานให้ ครม. ทราบเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 60 ประกอบด้วย 6 มาตรการ 29 โครงการ เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย การเพิ่มน้ำต้นทุน และ การจัดทำแผนชุมชน เป็นต้น ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ก็เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการข้างต้นว่ามีสามารถบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรได้หรือไม่ และมีปัญหาอุปสรรคหรือไม่อย่างไร เช่น การแนะนำเกษตรกรปรับเปลี่ยนจาการปลูกข้าวไปปลูกข้าวโพดใช้น้ำน้อยกว่าทนแล้งได้ดีกว่า และช่วยเกษตรกรในเรื่องแหล่งรับซื้อผลผลิตด้วย ขณะเดียวกัน พื้นที่ลุ่มน้ำยมที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทานมักท่วมในฤดูน้ำหลากช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. จึงจำเป็นต้องเริ่มประชาสัมพันธ์และเตรียมความพร้อมให้เกษตรเริ่มการเพาะปลูกในช่วงเดือน เม.ย. 60

“ในปีนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำ และ วางแผนเตรียมพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านเกษตร ปี 2559/2560 เนื่องจากผลพวงจากภัยแล้งปีที่แล้วทำให้ต้นปีมีน้ำใช้การในเขื่อนต่างๆ น้อยกว่าทุกปี โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 59 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ก็ได้สั่งการให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทำมาตรการเช่นเดียวกับปีที่แล้วโดยใช้งบปกติ โดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก พบว่า ประสบผลสำเร็จมาก เพราะได้วางแผนล่วงหน้าบูรณาการทำงานร่วมกัน และ ติดตามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง สามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามแผน มีน้ำอุปโภคบริโภคถึง ก.ค. 59 เขตประกาศช่วยเหลือภัยแล้งน้อยกว่าปีก่อนๆ อีกด้วย” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ