นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข มีการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคที่มาจากยุงลายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่มาจากยุงลายเพิ่มขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีระบบการตรวจที่แม่นยำและส่งตัวอย่างตรวจมากขึ้น ทำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และสามารถพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และในภาคใต้หลายพื้นที่หลังน้ำลดจะมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ประกอบกับในหลายพื้นที่ยังมีฝนตกได้ จึงต้องขอความร่วมมือจากประชนการร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่พบไข้เลือดออกเป็นช่วงโอกาสทองในการกำจัดยุงลายและกำจัดไข่ยุงลาย
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มค.60 - 5 กพ.60 พบผู้ป่วยทั้งประเทศแล้ว 1,560 ราย ในภาคใต้พบผู้ป่วย 1,121 ราย เสียชีวิต 1 ราย อาการสำคัญของโรคไข้เลือดออก ที่สังเกตได้ด้วยตัวเอง คือ ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน ไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส เบื่ออาหาร อาเจียน เมื่อกินยาลดไข้แล้ว ไข้มักไม่ลด หรืออาจลดชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรักษา การดูแลผู้ป่วยเมื่อมีไข้ ให้เช็ดตัวผู้ป่วยไม่ให้ตัวร้อนจัด รับประทานยาตามแพทย์สั่ง รับประทานอาหารอ่อนและที่ทำให้สดชื่น เช่น น้ำเกลือ น้ำผลไม้ พักผ่อนมากๆ และหมั่นสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย ช่วงที่สำคัญและถือว่าอันตรายที่สุดคือ ช่วงที่ไข้ลด ซึ่งประมาณตั้งแต่ 3-5 วันหลังป่วย ถ้าผู้ป่วยฟื้นไข้ คือ มีอาการสดชื่น รับประทานอาหารได้ กรณีในเด็ก ถ้าวิ่งเล่นได้ก็แสดงว่าน่าจะหายป่วย แต่หากพบว่าซึมลง อ่อนเพลีย รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน หรืออาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและควรให้ข้อมูลเรื่องอาการ ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์/ สถานที่รักษาบ่อยๆ และไม่ควรทานยาแอสไพรินกับกลุ่มไอบูโปรเฟนเพราะทำให้เลือดออกง่าย
สำหรับวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันคือไม่ให้ยุงกัด โดยเร่งดำเนินการควบคุมลูกน้ำยุงลายให้ลดลง ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น