น.สพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันไม่พบการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศไทย จากการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มสัตว์ปีกอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง เตือนเกษตรกรเพิ่มการตรวจสอบเข้มงวดสัตว์ที่อาจเป็นพาหะไม่ให้เข้าฟาร์ม ผู้บริโภคมั่นใจได้ไก่ไทยไม่มีโรค
ทั้งนี้ ประเทศไทยประกาศเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่สามารถป้องกันไข้หวัดนกได้ 100% แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้ โดยเฉพาะล่าสุดในประเทศจีน ขณะที่ประเทศไทยยังคงรักษาสถานภาพปลอดโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน โดยกรมปศุสัตว์ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการควบคุมและตรวจสอบสัตว์ปีกและคน ตลอดจนพื้นที่จุดเสี่ยงในเชิงรุก ขณะเดียวกันยังเร่งแนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกในการบริหารจัดการภายในฟาร์ม ด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) และการป้องกันสัตว์พาหะนำโรค ด้วยระบบปิดฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ
"จากการดำเนินร่วมกันในการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มแข็งระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดของกรมปศุสัตว์และกรมควบคุมโรค ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการป้องกันไข้หวัดนกตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ดังนี้ผู้บริโภคสามารถกินไก่ไทยได้อย่างมั่นใจ" น.สพ.อภัย กล่าว
สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกต้องยึดแนวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อเข้าสู่ฟาร์มอย่างเคร่งครัด โดยต้องตรวจสอบฟาร์มอย่างละเอียดเพื่อป้องกันเชื้อโรค ระมัดระวังการนำกรง หรืออาหารที่ปนเปื้อนเข้าสู่ฟาร์ม การนำเอาสิ่งสกปรกที่ติดมากับเสื้อผ้า ล้อรถ รองเท้า ด้วยการคุมเข้มเรื่องน้ำยาฆ่าเชื้อให้มากขึ้นโดยอาจเพิ่มความเข้มข้นและหมั่นเปลี่ยนน้ำยาบ่อยครั้งขึ้น และต้องตรวจตราความเรียบร้อยของโรงเรือนไม่ให้นกเข้ามาอาศัยภายในได้
"ประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันความเสี่ยงของโรคได้ด้วยการเลือกซื้อสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและไข่จากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ทราบแหล่งที่มา และรับประทานเนื้อสัตว์ปีกที่สุกแล้วเท่านั้น เพราะการปรุงอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาสามารถก็สามารถฆ่าเชื้อไข้หวัดนกได้แล้ว" น.สพ.อภัย กล่าว
ทั้งนี้ขอให้ประชาชนร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรคตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ เมื่อพบเห็นสัตว์ปีกป่วยตายอย่างผิดปกติ ห้ามนำไปประกอบอาหารอย่างเด็ดขาด และโปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 0-9630-11946 เพื่อเข้าตรวจสอบอย่างเร่งด่วนต่อไป