นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เดินหน้าผลักดันการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ลดการใช้ยาปฏิชีวนะและยาที่ไม่จำเป็น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ป่วย ตั้งเป้าลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะลงร้อยละ 20 ลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาร้อยละ 50 และลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ไม่เหมาะสมลงภายในปี 2564
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ทั่วโลกมีการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมถึงร้อยละ 50 และในปี 2557 ประเทศไทยมีการป่วยจากเชื้อดื้อยาถึง 88,000 ครั้ง เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น และทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งเสียชีวิต
"รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาการใช้ยาในประเทศที่มีมูลค่าการใช้ปีละกว่าแสนล้านบาท จึงมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เพื่อให้การใช้ยาในประเทศมีประสิทธิภาพ ประชาชนปลอดภัย และคุ้มค่ากับงบประมาณของประเทศ ด้วยยุทธศาสตร์การทำงาน 5 ด้าน คือ การเข้าถึงยา การใช้ยาอย่างสมเหตุผล การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาชีววัตถุ สมุนไพร การพัฒนาระบบการควบคุมยา และการสร้างเสริมกลไกการประสานเชื่อมโยงและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ" นพ.ปิยะสกล กล่าว
สำหรับการดำเนินยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลนั้น ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ทุกระดับ เร่งรัดดำเนินการ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยตั้งเป้าระหว่างปี 2560-2564 จะลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะลงร้อยละ 20 ลดการเจ็บป่วยจากเชื้อดื้อยาร้อยละ 50 และลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ไม่เหมาะสม คาดว่าจะช่วยประเทศชาติประหยัดงบประมาณจากการใช้ยาที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุดอย่างน้อยปีละ 10,000 ล้านบาท
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า สำนักงานปลัดฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมบัญชีกลาง และกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่จะพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU hospital) โดยกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานดังนี้
1.ระดับต้นน้ำ โดยจัดระบบการควบคุมกำกับการผลิต/การนำเข้าและการกระจายยาที่มีคุณภาพ รวมถึงการจัดการยาที่มีคุณภาพ ในโรงพยาบาลโดยการกำกับดูแลของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด 2.ระดับกลางน้ำ โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งเป็นโรงพยาบาลที่ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบ มีการจัดการเชื้อดื้อยา การส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น และ 3.ระดับปลายน้ำ โดยการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและประชาชนในเรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งเข้าร่วมดำเนินการให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จะยึดกุญแจสำคัญ 6 ประการ คือ P-L-E-A-S-E ประกอบด้วย 1. Pharmacy and Therapeutics Committee หรือคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด ที่จะกำหนดนโยบายและพัฒนาระบบการจัดการด้านยาให้เป็นไปอย่างสมเหตุผลตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 2. Labeling and Leaflet หรือฉลากยา ที่ให้ข้อมูลอย่างเพียงพอแก่ผู้ใช้ยา 3.Essential tools หรือเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เช่น คำแนะนำการใช้ยาในกลุ่มโรคต่างๆ การคัดเลือกยา 4. Awareness การสร้างความตระหนักรู้แก่บุคคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย 5. Special population ว่าการใช้ยาในคนสูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคตับ โรคไตเรื้อรัง และผู้ป่วยกลุ่มพิเศษอื่นตามทีสถานพยาบาลกำหนด และ 6. Ethics คือ จริยธรรมในการจัดซื้อและจรรณยาบรรณการสั่งใช้ยา