นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายประเทศทั่วโลกพบการระบาดของไข้หวัดนกในหลายสายพันธุ์ ทำให้ประเทศต่างๆ ตื่นตัวและดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ในส่วนของประเทศไทยได้มีการดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องและสูงสุดเช่นกัน โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งสาธารณสุข ปศุสัตว์ และฝ่ายปกครอง ถึงแม้ว่าจะไม่พบโรคนี้ในประเทศมานานหลายปีแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่โรคนี้อาจกลับมาระบาดได้อีก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ตามแนวชายแดน
สาเหตุที่ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก คือ ผู้เดินทางที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด นกอพยพ และการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกทั้งบริเวณแนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านและภายในประเทศ เช่น ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก (สายพันธุ์ H5N1) รายสุดท้ายในปี 2549 จากนั้นยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกเพิ่มอีก สำหรับสายพันธุ์อื่นๆ ที่พบในต่างประเทศตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ นั้น ยังไม่เคยมีรายงานพบในประเทศไทยมาก่อน โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีรายงานการป่วยตายของสัตว์ปีกประปรายในบางจังหวัด ซึ่งการป่วยตายก็ไม่ได้เกิดจากโรคไข้หวัดนกแต่อย่างใด
นพ.เจษฎา กล่าวต่อไปว่า องค์การอนามัยโลก ไม่มีมาตรการห้ามการเดินทางท่องเที่ยวหรือค้าขายในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ดังนั้น สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปยังตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ฟาร์มสัตว์ปีก โรงฆ่าสัตว์ โรงชำแหละ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก ควรล้างมือบ่อยครั้งด้วยสบู่และน้ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่ปรุงไม่สุก และหากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ภายในช่วง 14 วัน หลังกลับมาจากพื้นที่ดังกล่าว ควรสวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางและประวัติสัมผัสโรค สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคของไทย ประชาชนควรหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกโดยตรง เน้นการกำจัดสัตว์ปีกตายที่ถูกต้อง หากจำเป็นให้สวมถุงมือก่อนสัมผัส ไม่นำสัตว์ปีกป่วยตายมารับประทาน บริโภคอาหารปรุงสุก หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว หอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีก ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
"ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเนื้อไก่ เป็ด และไข่ไก่/ไข่เป็ด ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดถือว่ามีความปลอดภัย สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องปรุงให้สุกก่อน ไม่ควรรับประทานแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ"
สำหรับประชาชนที่เลี้ยงสัตว์ปีกหรือในฟาร์มปศุสัตว์ที่อาจพบสัตว์ปีกป่วยตายได้ ขอให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ดังนี้ 1.สัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ 2.สัตว์ปีกมีการกินอาหารลดลงผิดปกติ และ 3.ท้องเสีย ขนยุ่ง หงอนหรือเหนียงสีคล้ำ หายใจลำบาก หน้าบวม น้ำตาไหล ชักและคอบิด ซึ่งหากพบสิ่งผิดปกติดังกล่าวขอให้รีบแจ้งอาสาสมัครปศุสัตว์หรืออาสาสมัครและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (อสม.) เพื่อทำลายซากสัตว์และหาสาเหตุการตายที่ถูกต้อง
สถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 856 ราย เสียชีวิต 452 ราย ใน 16 ประเทศ และในสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 10–16 กุมภาพันธ์ 2560) ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H7N9) ตั้งแต่ต้นปี 2556–14 กุมภาพันธ์ 2560 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,222 ราย และในประเทศจีน ระหว่างวันที่ 19 มกราคม–14 กุมภาพันธ์ 2560 พบผู้ป่วยเพิ่มเติม 304 ราย