พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยระบุว่า รัฐบาลและ (คณะรักษาความสงแห่งชาติ) คสช. ยืนยันจะทำให้ดีที่สุดในเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาในด้านพลังงาน กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่อยากให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะหากลงทุนด้านพลังงานที่ไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงแล้ว อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นมีหลายประเภทด้วยกัน เราอาจจะจำเป็นต้องพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม เราไม่อาจจะพึ่งพาหรือฝากความหวังไว้แต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน ที่วันนี้เราพึ่งพาอยู่ 70% เราต้องลดลง แล้วหาเชื้อเพลิงอื่นที่เหมาะสม ราคาถูก หาง่ายและปลอดภัย มีคุณภาพ ตลอดจนไม่มีความเสี่ยงในเรื่องราคามากนัก เพื่อจะมาทดแทน 70% ที่ว่าให้ลดน้อยลง ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระของพี่น้องประชาชน และภาคการลงทุนต่าง ๆ ก็จะเกิดอุปสรรค ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจตามมา
"การใช้พลังงานฟอสซิลดังกล่าว ทั้งแก๊ส ทั้งน้ำมันนั้นจะต้องลดลงจาก 70% ให้เหลือ 60% ให้ได้ก่อน แล้วเราก็จำเป็นต้องเพิ่มพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานจากขยะ ชีวมวล ลม แดด อื่น ๆ เราก็ทำอยู่แล้วในขณะนี้ ถ้าหากเราทำ เพิ่มได้จาก 30% เป็น 40% ก็ย่อมจะดีกว่าเดิม ลดการผลิตแก๊ส CO2 ลดปัญหาโลกร้อนได้ด้วย เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องปรับอัตราส่วน แผน PDP ของเรา จากการใช้พลังงานจากฟอสซิล 70% กับ 30% จากพลังงานหมุนเวียน ให้เป็น 60% และ 40% ตามลำดับ" นายกรัฐมนตรี ระบุ
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญต่อมา คือ วันนี้อาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน ในคำว่า "ความเสถียร" และ "ไม่เสถียร" ก็คือความแน่นอนของพลังงานที่เกิดขึ้นจากการผลิตจากเชื้อเพลิงต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และการก่อสร้าง ต้นทุนการก่อสร้าง วัสดุต้นทุนที่นำมาใช้ ในการเป็นเชื่อเพลิง เหล่านี้อาจจะทำให้มีต้อนทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น เราต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาด้วย อาจจะส่งผลกระทบกับค่าไฟของคนทั้งประเทศ เพราะเราเอามารวมกันแล้วหารแบ่งกัน ใช้อัตราค่าไฟเท่ากันทั้งประเทศ อาจจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องมองในหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแก๊ส จากน้ำมัน จากถ่านหิน จากพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก ทุกอย่างต้องพิจารณาในทุกแง่ทุกมุม ซึ่งถ่านหินนั้นเราก็เอามาพิจารณาเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาพิจารณาในการที่จะพยายามลดสัดส่วนและค่าใช้จ่ายจากก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันที่เราจำเป็นต้องนำเข้าเป็นจำนวนมากทุกปี
"ในส่วนของที่เป็นถ่านหินนั้น ถ้าเราสามารถทำได้ ผมใช้คำว่าถ้าสามารถทำได้ จะต้องเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพสูง ไม่ใช่ถ่านหินลิกไนต์ แล้วจะต้องเป็นชนิดทีสร้างมลภาวะน้อยที่สุด ซึ่งการสร้างมลภาวะนั้นมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ที่เกี่ยวข้องวันนี้ก็ยังมีใช้อยู่ในต่างประเทศด้วย ไม่ใช่เป็นถ่านหินลิกไนต์ เป็นถ่านหินชนิดบิทูมินัส ซึ่งมีคุณภาพ มีระบบกำจัดในกระบวนการผลิตที่ทันสมัย และเป็นมาตรฐานสากล" นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการรับฟังความเห็นจากประชาชนว่า จะเห็นว่า 2 ปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาลรับฟังมาโดยตลอด ไม่ได้หมายความว่าจะไปสั่งการ หรือลงมติโดยที่ไม่ฟังเสียงจากประชาชนเลย รัฐบาลต้องการการมีส่วนร่วมด้วยความเข้าใจมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับในเรื่องของการทำ EIA/EHIA อย่าไปฟังคำบิดเบือนของใครทั้งสิ้น วันนี้ให้ไปทำใหม่ก็ไปทำใหม่ คำว่าทำใหม่ต้องมีของเก่าอยู่แล้วด้วย เอาของเก่ามาพิจารณาร่วมกันกับของใหม่ที่ยังทำไม่เสร็จทั้งหมด ทั้งฉบับ ทั้ง 2 เรื่อง ก็ต้องทำให้ผ่านทั้งหมด
"เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ผ่านจะทำอย่างไร ไม่ผ่านก็สร้างไม่ได้ ผมจะไปบังคับได้อย่างไร แต่ทุกคนต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดผลตามมา แล้วเราต้องไปพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนเดือดร้อนในเรื่องของค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด รวมทั้งต้องคำนึงถึงต้นทุนด้านพลังงานชนิดอื่น ๆ อีกด้วย ความมีเสถียรภาพคือไม่สม่ำเสมอ เพราะการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนสามมารถใช้ในโรงงานขนาดเล็ก ในการที่จะส่งเข้าเป็นพลังงานหลัก พลังงานไฟฟ้าหลักในระบบนี่ค่อนข้างจะเป็นปัญหา เพราะบางครั้งขึ้นๆ ลงๆ ไม่เสถียร ต้องมีพลังงานหลักใส่เข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะทำได้อย่างที่ว่าทั้งหมด ก็จะมีการผสมกัน ทดแทนกัน อยู่ในกรอบ 100% ของการจัดหาพลังงาน ตามแผน PPP จะต้องตอบคำถามข้างต้นได้ทั้งหมด ตอบคำถามประชาชนได้ด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า จริงๆ แล้ว รัฐบาลก็ไม่อยากจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะว่าไม่ได้เป็นผลอะไรกับตนเองหรือกับรัฐบาล กับ ครม. แต่เป็นผลกับประเทศชาติ ถ้าทำได้ก็คือทำได้ ทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้มาขัดแย้งกันอีก อยากมีการพูดจาหารือกัน ไม่จำเป็นต้องมาประท้วง เพราะเสียทั้งแรงเสียทั้งเวลา
"ต้องหาทางเลือกที่เหมาะสมของประเทศให้ได้ในทุกมิติ การทำ EIA/EHIA นั้น ก็ขอให้เร่งทำให้ได้ข้อยุติ จะได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ ยิ่งช้าก็จะยิ่งเสียการ จะได้รีบคิดกันใหม่ จะทำอะไร แล้วก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคตร่วมกัน การเสียอนาคต เสียโอกาส ความเสี่ยง พลังงาน ต้นทุน ความเสถียร และราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย เพราะรัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว" นายกรัฐมนตรี กล่าว