พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกร้ฐมนตรี กล่าวในรายการ"ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ถึงความจำเป็นในการบังคับใช้มาตรา 44 ตลอดจนคำสั่ง คสช.ต่างๆ ว่า ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งดีและไม่ดี แต่อยากให้เข้าใจตรงกันว่าเป็นเพียงกฎหมายชนิดหนึ่ง เหมือนกับกฎหมายอื่นๆ ที่ออกมาใช้เพียงเพื่อจะปลดล็อกอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่ทันสมัย หรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือให้การดำเนินการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น รวมทั้งระงับข้อขัดแย้งในกฎหมายหลายฉบับที่อาจจะมีผลต่อการทำงานที่เป็นการแก้ไขเป็นมาตรการเฉพาะหน้า เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศ การเดินหน้าประเทศมีความต่อเนื่องและต้องเป็นการกระทำโดยสุจริตของเจ้าหน้าที่ด้วย อีกประเด็นหนึ่ง คือ ต้องใช้ในการแก้ปัญหาความมั่นคง เพราะว่ามีหลายคน หลายประเภทไม่ค่อยชอบปฏิบัติตามกฎหมายปกติ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้มาโทษมาตรา 44 ซึ่งถ้าท่านไม่ทำความผิด มาตราไหนก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น
"ตัวอย่างที่เราใช้ไปแล้วกับงานที่คั่งค้างในอดีต เช่น การขอตั้งโรงงานกว่า 4,000 ราย การขอใบอนุญาตจาก อย.กว่า 10,000 ราย การขอจดสิทธิบัตรของต่างประเทศ ที่ยื่นขอมา 20 ปีแล้ว กว่า 12,000 ราย เหล่านี้เป็นต้น ค้างคามาได้อย่างไร รัฐบาลนี้เข้ามาก็เข้าไปแก้ไขในทันทีที่ทำได้ เพราะเสียโอกาส เสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้การประกอบธุรกิจในระดับฐานรากเดินหน้าไปได้ด้วย เพราะสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ไปติดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ ไม่กำกับดูแล ก็จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 มาแก้ไขให้สำเร็จ" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนมาตรการที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ในเรื่องกฎหมายนี้ ก็คือว่าจะต้องมีการออกเป็นกฎหมายในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม หลังจากที่มีมาตรา 44 ไปแล้ว โดยจะต้องให้มีผลบังคับใช้ในเวลาต่อมาอย่างยั่งยืน ซึ่งตอนนี้กำลังทยอยผลักดันเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายทางนิติบัญญัติ อาจจะต้องใช้เวลานานพิจารณากัน 3 วาระ ซึ่งรัฐบาลนี้ได้ผลักดันกฎหมายทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการแล้ว กว่า 500 ฉบับ วันนี้มีผลบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติแล้วกว่า 200 ฉบับ ไม่นับรวมการแก้ไขระเบียบ กฎ ข้อบังคับอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
"ประเด็นสำคัญก็คือ เราจะต้องเอากฎหมายที่เร่งด่วนมาดำเนินการก่อน กฎหมายที่ทำไม่ได้หรือไม่เคยทำ เพราะว่ามีพันธะสัญญาระหว่างประเทศอีกด้วย เรามีความจำเป็นในการที่ต้องบริหารราชการแผ่นดิน แล้วก็มีการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมโลกไปด้วย อาทิเช่น การแก้ปัญหา CITES การค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย เราทำสำเร็จไปแล้ว รวมทั้ง IUU กำลังคืบหน้า แล้วก็ ICAO ซึ่งมีทิศทางที่ดี ได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศ...ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ ปล่อยปละละเลย ไม่กำกับดูแล ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการอย่างเดียว การทำงานก็มีแต่ปัญหาติดขัดไปหมด ไม่ทันเหตุการณ์ แล้วก็เท่ากับเราทำอะไรใหม่ ๆ ไม่ได้เลย ปฏิรูปอะไรก็ไม่ได้ ติดของเก่า ติดปัญหาเดิมทั้งสิ้น" นายกรัฐมนตรี ระบุ
ส่วนกรณีการใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกายนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการจะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อรังแกพระ หรือรังแกพุทธศาสนา แต่เนื่องจากกฎหมายปกติไม่ได้รับการยอมรับจากบางกลุ่ม บางพวก มีการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายในการกระทำความผิดและไม่ยอมรับอำนาจรัฐ ไม่ปฏิบัติรตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งมีการผิดวินัยสงฆ์ร่วมด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เข้าไปดูแลในภาพรวม เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้และเกิดความมั่นใจในการทำงาน
"กฎหมายหลายฉบับที่มีอยู่แล้วแต่บังคับใช้ไม่ได้ ก็เลยจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็เห็นใจเจ้าหน้าที่เขาด้วย หลายหน่วยงานเขาก็ไปทำงาน เขามีความเสี่ยง เขาเสี่ยงอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก ความรุนแรงพร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา อาจจะมีบุคคลที่ 3 หรือ 4 เข้ามา... เพราะฉะนั้นผมต้องทำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เขามีความมั่นใจในการทำงาน มีความรู้สึกปลอดภัย เพราะว่าถ้าเขาประสบอันตรายขึ้นมา ใครรับผิดชอบเขาได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว