นายกฯ เยี่ยมคลินิกหมอครอบครัวจ.ปราจีนบุรี เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ-ลดความแออัดในรพ.

ข่าวทั่วไป Thursday March 9, 2017 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร สาขาศาลา ซึ่งนโยบายคลินิกหมอครอบครัวเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 258 ซึ่งระบุว่า ประชาชนต้องได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการ การเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างสะดวกทัดเทียม ดูแลประชาชนในทุกมิติสุขภาพ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค รักษา ฟื้นฟู คุ้มครองผู้บริโภคและให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพของไทยด้วยการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว ที่มีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพ ดูแลประชาชน 10,000 คน/ 1 ทีม

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุนโยบายคลินิกหมอครอบครัว ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านสาธารณสุข มีการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นชุมชนให้หลอมรวมทำงานร่วมกันเป็นทีม มีการบริการทั้งเวลาราชการและเวลาราษฎร ภายใต้สโลแกน “บริการทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี" โดยคลินิกหมอครอบครัวช่วยเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพ เช่น ลดเวลารอคอย จาก 172 นาทีเหลือเพียง 44 นาที และลดความแออัดในการรอรับบริการในโรงพยาบาลใหญ่ลงร้อยละ 60 ลดการนอนโรงพยาบาลที่ไม่จำเป็นร้อยละ 15 ลดการใช้บริการห้องฉุกเฉินร้อยละ 13 และการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน เช่น ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน ร้อยละ 25 และในอีก 10 ปีจะมีหมอครอบครัว 6,500 ทีม ดูแลประชาชน 65 ล้านคน เพื่อมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ ให้ประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

สำหรับคลินิกหมอครอบครัว สาขาศาลาไทยนั้น เป็นคลินิกหมอครอบครัวแห่งแรกของจังหวัดปราจีนบุรี มีทีมแพทย์ 3 ทีม ดูแลประชากรทั้งสิ้น 30,076 คน โดยจัดบริการแพทย์ประจำที่ศาลาไทย แพทย์ออกปฏิบัติงานทุกวัน โดยคลินิกหมอครอบครัว สาขาศาลาไทยนี้ ประกอบด้วยคลินิกย่อย อาทิ คลินิกเบาหวานและความดัน คลินิกทันตกรรม คลินิกส่งเสริมพัฒนาการเด็ก และคลินิกแพทย์แผนไทย เป็นต้น ซึ่งประชาชนสามารถปรึกษาแพทย์ได้ตลอดเวลา ทั้งทางโทรศัพท์และกลุ่มไลน์ รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการบริการการแพทย์แผนไทย เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์แผนไทย ลดการใช้บริการแผนปัจจุบัน โดยเริ่มในผู้ป่วยเบาหวานก่อน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ปัจจุบันมีผู้ป่วย 80 ราย จากการใช้องค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยมาดูแลผู้ป่วยเบาหวานพบว่ามีผู้ป่วยถึงร้อยละ 80 ที่ไม่ต้องเพิ่มยามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปจะขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่โรคอื่นๆ ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ