ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ควรมีมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.04 ระบุว่า เป็นความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส รองลงมา ร้อยละ 11.12ระบุว่า เป็นการไม่ใช้อำนาจ ตำแหน่ง หน้าที่ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้อง เช่น การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ การใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ร้อยละ 8.00 ระบุว่า เป็นการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เคารพกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของบ้านเมือง ร้อยละ 7.36 ระบุว่า เป็นการเอาใจใส่ และความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ ร้อยละ 7.04 ระบุว่า เป็นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาประเทศชาติ อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ หรือแบ่งแยก
ประชาชน ร้อยละ 5.52 ระบุว่า เป็นการไม่สร้างความแตกแยกในสังคม หรือไม่กล่าวหาฝ่ายตรงข้าม ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ร้อยละ 2.64 ระบุว่า เป็นการรักษาความเป็นระบอบประชาธิปไตย รับฟังเสียงส่วนน้อย ยึดหลักการมีส่วนร่วม ร้อยละ 1.44 ระบุว่า มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ ร้อยละ 1.20 ระบุว่า เป็นยึดหลักความพอเพียง ใช้ทรัพย์สินของราชการเป็นประโยชน์ เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ร้อยละ 1.44 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ความจริงใจ, ความมีเมตตา กรุณา, และการมีศีลธรรมอันดีงาม และร้อยละ 1.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ส่วนคะแนนจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ได้แก่ ครม. สนช. สปท.) ในภาพรวม พบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนจริยธรรมเท่ากับ 6.23 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 2.29 คะแนน)
การตัดสินใจของประชาชนหากต้องเลือกระหว่าง "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เก่ง มีผลงาน แต่ไม่มีจริยธรรม" กับ "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีจริยธรรม แต่ไม่เก่ง มีผลงานน้อย" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.16 ระบุว่า จะเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีจริยธรรม แต่ไม่เก่ง มีผลงานน้อย ขณะที่ร้อยละ 16.64 ระบุว่า จะเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เก่ง มีผลงาน แต่ไม่มีจริยธรรม และร้อยละ 11.20 ระบุว่า ไม่เลือกทั้งสองแบบ/ไม่ระบุ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ประเทศไทยมีแต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ดี เก่ง มีผลงาน และมีจริยธรรม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.96 ระบุว่า ต้องมีบทลงโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัด รองลงมา ร้อยละ 37.76 ระบุว่า ประชาชนต้องไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ร้อยละ 29.68 ระบุว่า ควรมีหน่วยงานตรวจสอบคุณธรรม จริยธรรม และความประพฤติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 29.04 ระบุว่า ควรมีระบบคัดกรองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองน้ำดี มีคุณภาพ ร้อยละ 26.40 ระบุว่า ควรแก้ไขที่ระบบการศึกษาของไทย
ประชาชนร้อยละ 20.80 ระบุว่า ควรสร้างค่านิยมใหม่ๆ ปรับทัศนคติ ค่านิยมคนไทยบางกลุ่มที่ ยึดติดกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่มีจริยธรรม แต่เก่ง มีผลงานหรือทัศนคติที่ว่าโกงได้ แต่ขอให้ประเทศพัฒนา ร้อยละ 0.56 ระบุอื่นๆ ต้องเคารพกฎหมาย, ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม, มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง, เร่งปฏิรูปการเมืองและนักการเมือง, ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และร้อยละ 1.29 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,250 หน่วยตัวอย่าง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2560