กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เตรียมแผนอำนวยความสะดวกปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ระหว่างวันที่ 5-18 เมษายน 2560 ภายใต้หัวข้อรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัยบนทางหลวงชนบท" ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกปลอดภัยให้กับประชาชน ตลอดจนป้องกันและลดอุบัติเหตุจากการเดินทางบนทางหลวงชนบท
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ทช.ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลตำแหน่งจุดวิกฤตที่คาดว่าจะมีการจราจรติดขัดในช่วงเทศกาล พร้อมทั้งจัดทำแผนที่เส้นทางลัดทางเลี่ยง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยมีการประชาสัมพันธ์ ติดตั้งป้ายแนะนำเส้นทางลัดทางเลี่ยง จัดเจ้าหน้าที่ดูแลสายทางให้มีความสะดวกและปลอดภัยตลอดเส้นทาง พร้อมทั้งได้จัดทำแผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนทางหลวงชนบท ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560
โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
ช่วงเตรียมความพร้อมและช่วงการรณรงค์ (แล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 เมษายน 2560)
- ดำเนินการตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุงถนนและสะพานให้พร้อมใช้งาน
- ติดตั้งป้ายจำกัดความเร็ว บริเวณย่านชุมชน ติดตั้งราวกันอันตรายในพื้นที่ ทางเนินเขาติดตั้งเครื่องหมายเตือน ป้ายแนะนำทางเลี่ยงช่วงเทศกาล
- ตัดหญ้า ตัดแต่งกิ่งไม้สองข้างทาง เพิ่มทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่
- คืนพื้นที่ถนนและสะพานบริเวณที่ก่อสร้าง โดยให้ผู้รับจ้างหยุดดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ ถนนได้อย่างปลอดภัย
ช่วงควบคุมเข้มข้น (วันที่ 5-18 เมษายน 2560)
- หยุดการดำเนินการก่อสร้าง ซ่อมแซมถนนและสะพานในช่วงเทศกาล พร้อมติดตั้งเครื่องหมายไฟสัญญาณเตือนให้มองเห็นอย่างชัดเจน
- จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท และบริการสายด่วน 1146
- จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยระดับสำนัก 18 ศูนย์ และระดับจังหวัด 76 ศูนย์
- จัดตั้งหน่วยบริการประชาชนทางหลวงชนบท ทั้ง 76 จังหวัด
- จัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วระดับสำนัก 18 ชุด และระดับจังหวัด 76 ชุด ตรวจตราเฝ้าระวัง บริเวณจุดเสี่ยงอันตราย และในเส้นทางที่มีความสำคัญ อำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง และเข้าช่วยเหลือเมื่อพบรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุพร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- จัดเจ้าหน้าที่/อาสาสมัคร เฝ้าระวังเส้นทางที่มีจุดตัดรถไฟ และเส้นทางที่มีจุดเสี่ยงจุดอันตราย
- จัดตั้งศูนย์วิทยุสื่อสาร ย่านความถี่ VHF ผ่านระบบทางสัญญาณความถี่ 172.075/167.400 MHz และความถี่ตรง 165.300 MHz
ช่วงหลังเทศกาล (ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2560)
- สรุปข้อมูลอุบัติเหตุ พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางปรับปรุง/แก้ไขระยะเร่งด่วนและระยะยาว
- ดำเนินการปรับปรุง/แก้ไข จุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุในระยะเร่งด่วน