ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนไทยคิดอย่างไรกับกฎหมายจราจรในวันนี้" เกี่ยวกับมาตรการ การบังคับชำระจ่ายค่าปรับล่าช้าเพิ่มอีก 1,000 บาท หากผู้กระทำผิดกฎจราจรไม่ไปชำระค่าปรับภายใน 7 วัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.28 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ระยะเวลาสั้นเกินไป อาจได้รับใบสั่งล่าช้า บางคนอยู่ไกล เดินทางไม่สะดวก ติดธุระต้องไปต่างประเทศ หรือบางครั้งตำรวจเสียบใบสั่ง ที่หน้ารถแล้วปลิวหายก็มี ควรมีการแจ้งเตือนซ้ำอีกครั้ง และควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์และช่องทางรองรับระบบการจ่ายค่าปรับให้มากขึ้นและค่าปรับล่าช้ายังเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย และควรยืดระยะเวลาออกไปอีก ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วยนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.29 ระบุว่า ควรปรับไม่เกิน 500 – 800 บาท รองลงมา ร้อยละ 45.97 ระบุว่า ควรปรับไม่เกิน 500 บาท ร้อยละ 3.32 ระบุว่า ควรปรับเป็นเปอร์เซนต์ของค่าปรับ เช่น 1 – 10 % ของค่าปรับ หรือปรับเป็นรายวัน วันละ 10 – 50 บาท และร้อยละ 1.42 ระบุว่า แล้วแต่กรณี
อย่างไรก็ตาม ประชาชน ร้อยละ 31.44 ระบุว่า เห็นด้วยกับการบังคับชำระจ่ายค่าปรับล่าช้าเพิ่มอีก 1,000 บาท เพราะ เป็นการสร้างความกระตือรือร้นให้รีบไปจ่ายค่าปรับ เพื่อความเคร่งครัด ความเป็นระเบียบวินัยตามกฎหมายที่กำหนด เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่กระผิดกฎจราจรหลบเลี่ยงไม่มาจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนมาก ซึ่งการให้ระยะเวลา 7 วัน ถือว่าเพียงพอแล้ว ควรมีมาตรการขั้นเด็ดขาด และคนจะได้เกรงกลัว ไม่กระทำผิดกฎจราจรซ้ำอีก ขณะที่ ร้อยละ 3.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ กับมาตรการดังกล่าว ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายกรณีผู้กระทำผิดกฎจราจรได้รับใบสั่งให้เสียค่าปรับแล้วไม่ดำเนินจ่ายค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด (15 – 30 วัน) จะไม่สามารถต่อภาษีประจำปีได้นั้นจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งมาชำระค่าปรับเพิ่มมากขึ้นได้มากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชนร้อยละ 37.92 ระบุว่า จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งมาชำระค่าปรับเพิ่มมากขึ้นได้มาก ร้อยละ 47.12 ระบุว่า จะช่วยได้บ้างระดับหนึ่ง ร้อยละ 11.04 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยได้เลย และร้อยละ 3.92 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้ มาตรา 44 โดยให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถสาธารณะ ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งนั้นว่าจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ได้มากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชน ร้อยละ 35.44 ระบุว่า จะช่วยลดการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินได้มาก ร้อยละ 49.60 ระบุว่า จะช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้บ้างระดับหนึ่ง ร้อยละ 13.92 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้เลย และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน การขับขี่และการโดยสารของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.20 ระบุว่า เป็นทั้งผู้ขับขี่และบางครั้งก็เป็นผู้โดยสาร รองลงมา ร้อยละ 21.12 ระบุว่า เป็นผู้โดยสารเดียว ขณะที่ร้อยละ 27.68 ระบุว่าเป็นผู้ขับขี่อย่างเดียว
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ระหว่างวันที่ 29 – 31 มีนาคม 2560 จากประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน โดยเป็นทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง