นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุประเทศไทยยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง หลังพบการระบาดของโรคในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งแนะนำผู้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกรวมทั้งนกธรรมชาติ และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ พร้อมสั่งการหน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมรับมือการระบาดและเร่งดำเนินการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น
ทั้งนี้จากกรณีสื่อมวลชนรายงานข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไข้หวัดนก H7N9 ในมณฑลหูหนาน ของประเทศจีน นั้น และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ณ วันที่ 23 มี.ค.60 รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค.60 สำนักงานคณะกรรมการกำกับการวางแผนครอบครัวและสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHFPC) รายงานพบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์ H7N9 เพิ่มเติม 22 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2556 จำนวนทั้งสิ้น 1,329 ราย ซึ่งการระบาดยังคงจำกัดอยู่ในประเทศจีนและเขตบริหารพิเศษ สำหรับประเทศไทยยังไม่เคยพบรายงานการพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 นอกจากนี้ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานว่าประเทศไทยไม่ได้มีการนำเข้าสัตว์ปีกจากประเทศจีน
"ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ผ่านผู้เดินทางที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด ผ่านทางนกอพยพ และผ่านทางการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกทั้งบริเวณแนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านและภายในประเทศ เช่น ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก (สายพันธุ์ H5N1) รายสุดท้ายในปี 2549 จากนั้นยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกเพิ่มอีก สำหรับสายพันธุ์อื่นๆ ที่พบในต่างประเทศตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ นั้น ยังไม่เคยมีรายงานพบในประเทศไทยมาก่อน" นพ.เจษฎา กล่าว
ขณะที่องค์การอนามัยโลกไม่มีมาตรการห้ามการเดินทางท่องเที่ยวหรือค้าขายในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ดังนั้นยังสามารถเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปยังตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ฟาร์มสัตว์ปีก โรงฆ่าสัตว์ โรงชำแหละ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก ควรล้างมือบ่อยครั้งด้วยสบู่และน้ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่ปรุงไม่สุก หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ภายในช่วง 14 วัน หลังกลับมาจากพื้นที่ดังกล่าว ควรสวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางและประวัติสัมผัสโรค ส่วนในสถานพยาบาลหากพบผู้ป่วยจากประเทศที่มีการระบาดเข้ารับการรักษา ควรวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยเฉพาะอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
พร้อมกันนี้ กรมควบคุมโรคได้สั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค(สคร.) ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เร่งดำเนินการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้น โดยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทุกแห่ง โดยขอให้ดำเนินการร่วมกับด่านกักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์ ตรวจเข้มเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกที่จะผ่านมาในประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายแดน ทั้งนี้ หากประชาชนมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว หอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีก ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว