พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแนวคิดเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายละ 1,200-1,500 บาทต่อเดือน จากเดิม 600 บาทต่อเดือน เพื่อให้เหมาะสมกับการครองชีพในปัจจุบัน โดยระหว่างนี้กำลังศึกษารายละเอียด เช่น การระดมเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือกองทุนสนับสนุนการกีฬา รวมถึงผู้สูงอายุที่มีฐานะดีอยู่แล้ว และยอมเสียสละเบี้ยยังชีพคนชราอีกส่วนหนึ่ง จัดตั้งเป็นกองทุนผู้สูงอายุ
"กองทุนผู้สูงอายุจะนำเงินไปเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่คนชราที่มีประมาณ 10 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มคนชราที่ยากจน หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน จากการสำรวจตามโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหลังการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบที่ 2 แล้ว ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ซึ่งท่านนายกฯ ย้ำให้คนในครอบครัวใช้โอกาสวันหยุดสงกรานต์นี้ เชิญชวนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยไปลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐได้จนถึงวันที่ 15 พ.ค.นี้"พลโท สรรเสริญ กล่าว
พลโท สรรเสริญ กล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องเบี้ยยังชีพ ที่เป็นรายได้ประจำเดือนของผู้สูงอายุแล้ว รัฐบาลยังดูแลเรื่องการประกอบอาชีพด้วย โดยในปีนี้ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เพิ่ม 39,000 อัตรา โดยเฉพาะในชนบทผ่านวิสาหกิจชุมชน และออกมาตรการจูงใจให้องค์กรต่าง ๆ จ้างงานผู้สูงอายุ โดยสามารถนำรายจ่ายไปหักภาษีได้ถึง 2 เท่า รวมทั้งพยายามเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ
ส่วนด้านที่พักอาศัยของผู้สูงอายุนั้น มีการดำเนินงานหลายรูปแบบ เช่น โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร หรือซีเนียร์คอมเพล็กซ์ ที่รวมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไว้ในที่เดียวกัน เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล ฯลฯ หรือโครงการบ้านกตัญญู ที่มีรูปแบบและสภาพแวดล้อมเหมาะกับการพักอาศัยของผู้สูงอายุและลูกหลาน เป็นต้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการให้คนไทยมีความสุข โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนมากขึ้น โดยหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยมีแผนงานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำแผนดูแลผู้สูงอายุฉบับที่ 2 ปี 2560-2564 กระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนสุขภาพแห่งชาติปี 2560-2564 และกระทรวงแรงงานจัดทำแผนจัดหางานให้ผู้สูงอายุปี 2560-2564