นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า หลังจากที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการปรับแผนปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือ พื้นที่การเกษตรที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพืชไร่ข้าวโพดของจังหวัดนครราชสีมา สามารถช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวได้ตามที่เกษตรมีการขอรับบริการฝนหลวง
จากการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติการบริเวณพื้นที่การเกษตรจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ และพื้นที่รับน้ำเขื่อนลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำแซะ ลำมูลบนและลำนางรอง โดยใช้อากาศ-ยานชนิด CN 235 ที่ย้ายจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ มาช่วยเหลือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นปฏิบัติการจำนวน 4 เที่ยวบิน 6 ชั่วโมง ใช้สารจำนวน 8 ตัน มีรายงานจากการสอบถามไปยังเกษตรกรในพื้นที่ พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่อำเภอครบุรี จักราช ห้วยแถลง พิมาย โนนสูง และเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอหนองหงส์ ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงพื้นที่รับน้ำเขื่อนลำมูลบนด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรพืชไร่ของเกษตรกรที่ขอความช่วยเหลือการรับบริการฝนหลวง
สำหรับด้านการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาสาหร่ายบลูม ยังคงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประสานการดำเนินงานกับทางสำนักชลประทานในพื้นที่และจังหวัดอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาจนกว่าจะคลี่คลายต่อไป
ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการเมื่อวันที่ 3 มีนาคม–22 เมษายน 2560 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 48 ขึ้นปฏิบัติงานจำนวน 753 เที่ยวบิน (1,106:50 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 641.20 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 241 นัด และภารกิจปฏิบัติการยับยั้ง ความรุนแรงพายุลูกเห็บ จำนวน 730 นัด มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 51 จังหวัด และทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมรวม 141.93 ล้าน ลบ.ม.