กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นเรื่องประชาชนเรื่อง "แรงงานไทย ใจสู้หรือเปล่า" พบว่าประชาชนส่วนใหญ่รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิม 300 บาท เป็น 305-310 บาทที่มีผลตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็เห็นว่ารัฐบาลควรจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่านี้ ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายจึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม
กรุงเทพโพลล์ สำรวจข้อมูลกับผู้ใช้แรงงาน โดยใช้การสุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกสาขาอาชีพ ที่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 1,149 คน ระหว่างวันที่ 21-25 เมษายน 2560
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 65.2 รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิม 300 บาท เป็น 305-310 บาท ตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นค่าจ้างใหม่ เริ่ม 1 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 34.8 ไม่ทราบข่าว ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่าได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 300 บาท เป็น 310 บาทแล้วหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.9 ระบุว่า “ได้รับแล้ว" ขณะที่ร้อยละ 21.1 ระบุว่า “ยังไม่ได้รับ"
สำหรับความเห็นต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวของภาครัฐพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.8 เห็นว่าน่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่านี้ ขณะที่ร้อยละ 32.8 เห็นว่าเป็นการขึ้นที่สมเหตุสมผลแล้ว เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจ ส่วนร้อยละ 14.4 เห็นว่ายิ่งขึ้นยิ่งหางานทำยาก เพราะต้นทุนของนายจ้างเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อถามว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.4 เห็นว่าพอดีกับค่าใช้จ่าย จึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม ส่วนร้อยละ 33.8 เห็นว่า ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม ขณะที่ร้อยละ 18.8 เห็นว่า เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม
เมื่อให้เปรียบสภาพทางการเงินของตนเองกับสำนวนไทยพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.2 เปรียบได้กับสำนวน พออยู่พอกิน รองลงมาร้อยละ 31.4 ชักหน้าไม่ถึงหลัง และร้อยละ 3.1 เหลือกินเหลือใช้
นอกจากนี้เมื่อถามว่าการเข้ามาของแรงงานต่างด้าว จากประเทศเพื่อนบ้าน มีผลต่อการแย่งงาน หรือ กีดกันการทำงานของแรงงานไทยใช่หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.4 เห็นว่า “ไม่ใช่" ขณะที่ร้อยละ 48.6 เห็นว่า “ใช่" และเมื่อถามว่าทราบหรือไม่ว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมีเพิ่มขึ้น จาก 300 ไปจนถึง 700 แก่กลุ่มแรงงานมีฝีมือ ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.7 ระบุว่า “ไม่ทราบ" ขณะที่ร้อยละ 41.3 ระบุว่า “ทราบ"
นอกจากนี้เมื่อถามว่าหากมีโอกาสอยากได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านใดจากหน่วยงานภาครัฐหรือกระทรวงแรงงาน เพื่อตอบรับไทยแลนด์ 4.0 ส่วนใหญ่ร้อยละ 36.3 อยากได้รับการพัฒนาด้านการทำอาหาร เครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาด้านไอที คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 20.9 และด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 19.9