สตง.จี้กรมอุตุฯ เพิ่มแผนบริหารความเสี่ยงด้านการจัดหาและบำรุงรักษาเครื่องมือชำรุดไร้การดูแลซ่อมแซม

ข่าวทั่วไป Monday May 1, 2017 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า สตง.เผยแพร่ รายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน การพัฒนาและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามแผนงานจัดการภัยพิบัติ (งบ 2555-2559) วงเงินรวม 6,089.54 ล้านบาท โดยเป็นการตรวจสอบเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ งบ (2555-2559) จำนวน 3,070.38 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 50.42 ของเงินงบประมาณทั้งหมด

สตง. พบว่า จากการที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ไม่มีแผนบริหารความเสี่ยงด้านการจัดหาและบำรุงรักษาเครื่องมืออุตุนิยมวิทยาและแผ่นดินไหว แต่ยังใช้งานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ประกอบกับเครื่องมือมีจำนวนมากและมีมูลค่าสูงและมีความจำเป็นต้องบำรุงรักษาอยู่เสมอ โดย สตง.ได้สุ่มตรวจสอบเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ 11 ประเภท พบจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบซ่อมแซม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ และการใช้ประโยชน์เครื่องมือตรวจวัดที่อาจไม่เกิดความคุ้มค่าหรือบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ แม้ในปีงบประมาณ 2555-2559 จะมีการจัดสรรค่าใช้จ่ายซ่อมแซมและบำรุงรักษาจำนวน 655.74 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 131.15 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายเพื่อลงทุนปรับปรุงเครื่องมือฯ จำนวน 2,414.64 ล้านบาท( เฉลี่ยปีละ 482.93 ล้านบาท)

ทั้งนี้ จากค่าใช้จ่ายเพื่อลงทุนปรับปรุงเครื่องมือฯ จำนวน 2,414.64 ล้านบาท นั้น สตง.พบว่า มูลค่าการลงทุน 1,055.29 ล้านบาท ใน 8 ประเภท 1,192 รายการ ไม่เกิดความคุ้มค่า และอาจะเกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนได้ เครื่องมือทั้ง 8 ประเภทดังกล่าว ประกอบไปด้วย 1.เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ 6 สถานี มูลค่า 566.56 ล้านบาท ชำรุดมากกว่า 1-2 ปี มีสภาพเก่า หาอะไหล่ทดแทนยาก ไม่คุ้มที่จะซ่อมแซม 2.เครื่องมือตรวจวัดฝนอัตโนมัติ (920 สถานี) พบปัญหาไม่สามารถแสดงผลและรายงานออนไลน์ผ่านเว็บไซด์ไดทั้ง 930 สถานี มากกว่า 7 เดือน เกิดจากสภาพServer ขัดข้อง โดยตลอดปี 2558 สตง.ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงและแก้ไข โดยปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาได้เข้ามาดำเนินแล้ว

3.เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) พบปัญหาการแสดงผล ผ่านเว็บไซด์กรมอุตุนิยมวิทยา Server ออฟไลน์จำนวนมาก เกิดปัญหาระบบเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ท ระบบไฟฟ้าที่ติตดตั้ง AWS ทั้งขัดข้องและชำรุด จากการทดสอบไม่สามารถดำเนินได้ถึง 82 วัน 4.เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) ชุดกว่า 7 สถานี ซึ่งติดตั้งภายในท่าอากาศยาน จ.ตรัง พิษณุโลก อุบลราชธานี นครราชสีมา สกลนคร ภายในสถานีอุตุนิยมวิทยาบุรีรัมย์และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น มูลค่ากว่า 93.40 ล้านบาท 5. เครื่องมือสถานีฝนอำเภอ กว่า 500 สถานี พบว่า 144 สถานี มูลค่ารวม 1.37 ล้านบาท มีความชำรุด ไม่สามารถพร้อมใช้งานอย่างเหมาสม พบชำรุดประมาณ 1-3 เดือน บางแห่งชำรุดกว่า 2 ปี และสูงสุดถึง 10 ปี ยังพบรายงานว่า บางแห่งไม่เคยมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเครื่องมือเลย

6.เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตร ที่ตรวจสอบ 24 สถานี พบอุปกรณ์ 17 รายการ จาก 9 สถานีมีปัญหาชำรุด 1-3 ปี 7.เครื่องมือสถานีตรวจอากาศผิวพื้น พบชำรุด 10 แห่ง ใน 17 รายการ และ 8. เครื่องมือสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก จาก 16 สถานีทั่วประเทศ สตง.พบ 9 สถานี เครื่องมือหลักส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ประโยชน์ และมีปัญหาชำรุด

นอกจากนี้ สตง. ยังพบว่า การควบคุม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมือ ไม่เป็นระบบและขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือ และจะส่งผลเสียหายต่อการปฏิบัติงานใน ภารกิจหลักของกรมอุตุนิยมวิทยา ดังการสุ่มตรวจสอบ พบว่า สถานีอุตุนิยมวิทยาส่วนใหญ่มีจุดอ่อน เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนคุมครุภัณฑ์ และทะเบียนคุมการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือ โดยไม่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่กำหนด อย่างไรก็ตาม สตง.ได้แจ้ง ข้อมูลดังกล่าวให้ กรมอุตุนิยมวิทยาแก้ไขต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ