นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ถอดบทเรียนการลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 พบจำนวนครั้งและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง โดยการดื่มแล้วขับยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ซึ่ง ศปถ.ได้จัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายที่มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน และพัฒนาระบบบริหารจัดการอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นกรอบแนวทางในการยกระดับการสร้างความปลอดภัยทางถนน นำไปสู่การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน
โดยสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 เกิดอุบัติเหตุ 3,690 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 390 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,808 คน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ เมาแล้วขับ 1,589 ครั้ง ขับรถเร็ว 1,028 ครั้ง สาเหตุของการเสียชีวิต ได้แก่ ขับรถเร็ว 146 ราย เมาแล้วขับ 124 ราย ประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 3,230 คัน รถปิคอัพ 260 คัน พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ได้แก่ เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และตัดหน้ากระชั้นชิด ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน พบว่า จำนวนครั้งและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง แสดงให้เห็นว่าดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุลดลง เนื่องจากการกวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มข้น และการปฏิบัติตามกฎหมายจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน อีกทั้งการดื่มแล้วขับยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ และทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า รวมถึงผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
ทั้งนี้ ศปถ.ได้ถอดบทเรียนการลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 และจัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นกรอบแนวทางในการยกระดับการสร้างความปลอดภัยทางถนนครอบคลุมทุกมิติ ดังนี้ มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายด้วยการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ การจัดหาเทคโนโลยีและอุปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การจัดตั้งด่านชุมชนที่ครอบคลุมจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทั่วประเทศ อีกทั้งส่งเสริมการใช้อุปกรณ์นิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนนำนโยบาย “ประชารัฐ" มาใช้เป็นกลไกหลักในการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่,
มาตรการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน โดยผลักดันให้มีการบรรจุเรื่อง “วินัยจราจร" ในหลักสูตรการศึกษา อีกทั้งประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนผ่านช่องทางสื่อและกิจกรรมรณรงค์ทุกรูปแบบ รวมถึงส่งเสริมการดำเนินมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อสร้างหน่วยงานต้นแบบในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย,
มาตรการพัฒนาระบบบริหารจัดการอุบัติเหตุทางถนน โดยกำหนดให้การสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น พร้อมปรับปรุงแนวทาง จัดสรรงบประมาณ และสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อส่งเสริมให้การลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่เป็นรูปธรรม รวมถึงพัฒนาระบบฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้มีเอกภาพตามแนวทาง 3 ฐาน เพื่อให้การกำหนดมาตรการสอดคล้องกับสภาพปัจจัยเสี่ยงภายใต้ข้อมูลชุดเดียวกัน อีกทั้งจัดชุดปฏิบัติการประกอบกำลังร่วมกับ อปพร. และเจ้าหน้าที่ตำรวจป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกการเดินทางใน 365 วัน บนถนนของเมืองไทยเต็มเปี่ยมด้วยความสุขและความปลอดภัย สอดรับกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้วาระ “ประเทศไทยปลอดภัย" (Safety Thailand)