นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพบว่าผู้ที่มีความดันโลหิตสูงทั่วโลกจะทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูงเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก กล่าวไว้ว่า ถ้ามีภาวะความดันโลหิตสูง จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า และมีความเสี่ยงของกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
สำหรับในประเทศไทยพบความชุกของโรคความดันโลหิตสูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นในประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป โดยในปี 2557 มีความชุกของโรคประมาณร้อยละ 25 คิดเป็นจำนวนผู้ที่มีความดันโลหิตสูงประมาณ 13 ล้านคน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 44 เท่านั้น ที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษา และการปล่อยให้มีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานหลายปีโดยไม่มีการดูแลรักษา จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคไต ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 โรค (โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง)ในปี 2551 สูงถึง 25,225 ล้านบาทต่อปี และเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 2,465 ล้านบาทต่อปี ประมาณการจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 10 ล้านคน จะสูญเสียค่ารักษาทั้งสิ้น 79,263 ล้านบาทต่อปี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของประชากร ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรผลต่อความยากจนทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และสังคม
นพ.เจษฎา กล่าวต่อไปว่า โรคความดันโลหิตสูง มักจะไม่มีสัญญาณเตือนหรือมีอาการแสดงให้เห็น ที่ไม่แสดงอาการชัดเจนในตอนแรกหากมีความรุนแรงมากขึ้น จะแสดงอาการปวดศีรษะ ง่วงนอน ใจสั่น ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย วิงเวียนสับสน หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในร่างกายที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจโรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคตา ซึ่งอาจนำไปสู่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การสนับสนุนให้ประชาชนเห็นความสำคัญใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเองและรู้ค่าตัวเลขระดับความดันโลหิตสูงของตนเอง จะทำให้เกิดความตระหนักในการป้องกันควบคุมและลดความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูงลงได้ ซึ่งค่าความดันโลหิตปกติจะต้องน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง นั่นคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดังนี้ 1.การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด 2.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 150 นาทีต่อสัปดาห์ 3.งดการสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา 4.ควรรับการตรวจวัดค่าระดับความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ 5.การทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ