นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศของประเทศไทยช่วงวันที่ 4-7 พฤษภาคม 2560 มีความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศ ประกอบกับบริเวณภาคเหนือที่ยังคงเกิดพายุฤดูร้อนในบางพื้นที่ ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า กับมีลมกระโชกแรง เกิดฝนตกหนักและลูกเห็บตกในพื้นที่ภาคเหนือ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมีพื้นที่เป้าหมาย ในการปฏิบัติการบริเวณตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง และตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (Alpha Jet) หมายเลข 23135 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ และ สารฝนหลวงชนิดซิลเวอร์ไอโอไดด์ (AgI) จำนวน 37 นัด ตั้งแต่เวลา 14:32 – 15:04 น. รวมเวลาปฏิบัติการภารกิจยับยั้งลูกเห็บ 32 นาที พบว่า ไม่มีรายงานการเกิดลูกเห็บในช่วงเวลาปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการปฏิบัติการ ที่ช่วยยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บได้
ทั้งนี้ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิด พายุลูกเห็บอยู่อย่างต่อเนื่องและเตรียมพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสมอีกด้วย นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรแปลงใหญ่ เติมน้ำในอ่างเก็บกักน้ำสำคัญทั่วทุกภูมิภาค และช่วยเหลือเกษตรกรจากการขอรับบริการฝนหลวง
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงปฏิบัติการอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยจากปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม – 6 พฤษภาคม 2560 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 62 วัน 1,141 เที่ยวบิน (1,637.10 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 983.30 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 353 นัด และภารกิจปฏิบัติการยับยั้งความรุนแรงพายุลูกเห็บ จำนวน 1,025 นัด มีจังหวัด ที่มีรายงานฝนตกรวม 55 จังหวัด และทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมรวม 202.37 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือควรหลีกเลี่ยงที่โล่งแจ้ง การอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงในขณะที่มีพายุฤดูร้อนไว้ด้วย และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารฝนหลวงได้ทุกวันที่เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร