กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งดำเนินงานควบคุมการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล พร้อมสนับสนุนให้มีการค้นหาวัณโรค ตรวจคัดกรอง และป้องกันในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ โดยเน้นให้มีมาตรการลดความเสียงต่อการแพร่กระจายและติดเชื้อวัณโรค
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีความเสียงต่อการป่วยเป็นวัณโรคสูงกว่าประชาชนทั่วไปถึง 3 เท่า และอาจมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการปฏิบัติงานของบุคลากร หลังพบแนวโน้มมีผู้ป่วยวัณโรคมาใช้บริการที่สถานบริการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บุคลากรมีโอกาสสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลได้
สำหรับการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลอาจเกิดได้ใน 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ จากผู้ป่วยวัณโรคสู่ผู้ป่วยอื่น จากผู้ป่วยวัณโรคสู่บุคลากรทางการแพทย์ และจากบุคลากรทางการแพทย์แพร่กระจายสู่ผู้ป่วยและผู้ร่วมงาน ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลอาจเกิดจากการวินิจฉัยล่าช้า และไม่ใช้เครื่องป้องกันในระหว่างการทำหัตถการที่มีความเสี่ยงต่อการสูดหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินงานควบคุมการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล โดยมีมาตรการ 3 ระดับ ได้แก่ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ มาตรการควบคุมการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล ประกอบด้วยการประเมินความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ การอบรมบุคลากร เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค การจัดสถานทีในการให้บริการให้เหมาะสม การลดการสัมผัสเชื้อวัณโรคในห้องชันสูตร การรักษาแบบผู้ป่วยใน เป็นต้น 2.ควบคุมสภาพแวดล้อมให้ปราศจากเชื้อวัณโรคในอากาศ และ 3.การควบคุมป้องกันระดับบุคคล เน้นการป้องกันการติดเชื้อเฉพาะบุคคล เช่น ให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัย และให้บุคลากรทีมีความเสี่ยงสูงใช้หน้ากาก N95 mask
นอกจากนี้ยังมีมาตรการในการเฝ้าระวังการติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคในบุคลากรสาธารณสุข โดยบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีการป้องกันตนเอง โดยต้องมีความรู้เกี่ยวกับวัณโรค ลักษณะการแพร่เชื้อและแนวทางป้องกัน และการตรวจเช็คสุขภาพก่อนเริ่มทำงานและระหว่างทำงานว่าเป็นวัณโรคหรือไม่
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ตรวจสุขภาพและคัดกรอง เพื่อค้นหาวัณโรค ตลอดจนโรคอื่นๆ ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยง เพื่อประเมินภาวะสุขภาพของบุคลากร การค้นหาความผิดปกติ เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพ ให้มีสุขภาพที่ดี มีประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน