นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ (SCMG) ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2560 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ จากประเทศสมาชิก ASEAN จำนวน 8 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย รวมถึงตัวแทนจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถในการเตือนภัยพิบัติธรรมชาติเพื่อลดและบรรเทาความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศสมาชิก และความร่วมมือการวิจัยในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับด้านอุตุนิยมวิทยา ธรณีฟิสิกส์ การผันแปรของสภาพอากาศ มรสุม ผลกระทบจากเขตพรมแดนทางทะเล มลพิษทางอากาศ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และการประเมินความเสี่ยง
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝนหลวง กรมได้เสนอให้มีการจัด ASEAN Weather Modification Workshop เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีของประเทศสมาชิก ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้รับการบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติงานภายใต้กรอบ SCMG (Work Plan of Meteorological and Geophysics) โดยกำหนดจัดในเดือนมิถุนายน 2561 ณ ประเทศไทย ซึ่งมีประเทศในภูมิภาคให้ความสนใจเข้าร่วม เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รายงานถึงความร่วมมือในอาเซียนด้านการดัดแปรสภาพอากาศว่าในอดีตได้มีการดำเนินความร่วมมือ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียในการร่างข้อเสนอโครงการ ASEAN Cooperative Weather Modification Project โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝน และประเมินศักยภาพการทำฝนเทียมในภูมิภาคอาเซียน แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณในการดำเนินโครงการ และมีการปรับปรุงโครงสร้างของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในช่วงเวลานั้น จึงทำให้โครงการมีความก้าวหน้าไม่มากนัก ประเทศไทยจึงขอเสนอโครงการ ASEAN Weather Modification Workshop เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศในอาเซียนอีกครั้ง และได้นำเสนอเทคโนโลยีฝนหลวงซึ่งเป็นเทคนิคที่ริเริ่มคิดค้นโดยพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผลการปฏิบัติการ เทคนิคและขั้นตอนการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทาน อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน
สำหรับการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการได้เรียนรู้การพัฒนาการพยากรณ์และระบบการเตือนภัยเพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ที่ได้ดำเนินการในภูมิภาคอาเซียน เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง และเป็นโอกาสในการนำเสนอศักยภาพการปฏิบัติงานด้านการดัดแปรสภาพอากาศของหน่วยงาน ซึ่งนับว่าเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกรมฝนหลวงฯ ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศในอาเซียนภายในระยะเวลา 10 ปี และได้มีโอกาสเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาค และเทคนิคในการทำฝนของประเทศสมาชิก เพื่อนำมาพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงของไทยให้เกิดผลสำเร็จยิ่งขึ้นต่อไป