รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดเรือไทย พ.ศ. .... และร่างพระราชกำหนดการเดินเรือพ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนโดยให้พิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบในการตรากฎหมายด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ร่างพระราชกำหนดฯ ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยเรือไทยและกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยทั้งระบบ โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างของกฎหมายตามหลักการเรื่องรัฐเจ้าของธง (Flag State Jurisdiction) กำหนดบทบัญญัติเรื่องการกำกับดูแลกองเรือไทย ระบบทะเบียนเรือไทย การจดทะเบียนเรือไทย การโอนกรรมสิทธิ์เรือไทย การตรวจสภาพเรือไทย การจัดการความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของเรือและอุปกรณ์ประจำเรือ การจดทะเบียนจำนองและบุริมสิทธิเหนือเรือไทย การจำนองเรือที่อยู่ระหว่างการต่อ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของเรือไทย รวมถึงคนประจำเรือและการจัดคนเข้าทำการในเรือ และปรับปรุงโครงสร้างของกฎหมายตามหลักการเรื่องรัฐชายฝั่ง (Coastal State Jurisdiction) และรัฐเมืองท่า (Port State Jurisdiction) ให้มีความทันสมัย เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้เสนอขออนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดการเดินเรือ พ.ศ. .... และร่างพระราชกำหนดเรือไทย พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ เนื่องจากพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ได้ใช้บังคับเป็นเวลานาน และไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน สมควรจะปรับปรุงบทบัญญัติในเรื่องการกำกับดูแลกองเรือไทย ระบบทะเบียนเรือไทย การตรวจสภาพเรือไทย การจัดการความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของเรือและอุปกรณ์ประจำเรือ การจดทะเบียนจำนองและบุริมสิทธิเหนือเรือไทย รวมถึงคนประจำเรือทั้งระบบ
และจากการที่ประเทศไทยได้รับการประกาศเตือนจากสหภาพยุโรปถึงการจัดให้มีมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการกระทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) รวมทั้งเตรียมความพร้อมกับการประเมินของสหภาพยุโรปในเดือนกรกฎาคม 2560 เพื่อให้สามารถเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในการทำการประมงได้อย่างยั่งยืนและเป็นระบบ และยกระดับมาตรฐานการประมงของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตลอดจนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง อุตสาหกรรมต่อเนื่องและผู้มีส่วนได้เสีย จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้นำเนื้อหาของร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. เรือไทย พ.ศ. 2481 พ.ศ. .... และร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 พ.ศ. .... ที่ ครม. อนุมัติหลักการ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 และอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก. มาปรับแก้ไขใหม่ โดยนำร่าง พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับ มารวมกับมาตรการในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2558 และฉบับที่ 53/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความครบถ้วนเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการตรวจประเมินขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) และสอดคล้องกับข้อกำหนดของ IMO และเพื่อจัดให้มีมาตราการในการป้องกัน IUU Fishing ซึ่งทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเตรียมความพร้อมกับการประเมินของสหภาพยุโรป ในเดือนกรกฎาคม 2560