นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ชี้แจงว่า ตามที่มีข่าว ทอท.ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ในกรณีให้สัมปทานกับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) เพื่อประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรและร้านค้าเชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานที่อยู่ในการกำกับดูแลของ ทอท.นั้น ในขั้นตอนการประเมินมูลค่าการลงทุนเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ซึ่ง ทอท.ได้จ้างที่ปรึกษาประเมินมูลค่าการลงทุนทั้งสัญญาร้านค้าปลอดอากรของ KPD และการประมูลกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ KPS ซึ่งผลการศึกษาพบว่าทั้ง 2 โครงการมีมูลค่าการลงทุนไม่เกินหนึ่งพันล้านบาท
ในการประเมินมูลค่าการลงทุนดังกล่าวได้อิงราคาก่อสร้างของกิจการในลักษณะเดียวกัน และเมื่อภาครัฐประเมินราคาตามมาตรฐานที่ยอมรับได้ดังกล่าวแล้ว ผู้ลงทุนจะพิจารณาลงทุนจริงเป็นเท่าใดในขอบเขตงานขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ลงทุนที่จะเห็นเหมาะสมกับสภาพกิจการของตนต่อไป
ที่ผ่านมา ทอท.ได้เคร่งครัดในการบริหารสัญญามาโดยตลอด หากมีการขยายพื้นที่การประกอบการหรือมีการต่ออายุสัญญาสัมปทาน ทอท.จะคำนวณเม็ดเงินลงทุนส่วนเพิ่มตามสัดส่วนพื้นที่หรือระยะเวลาที่ขยาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อรวมขอบเขตพื้นที่หรือระยะเวลาสัญญาเดิมกับขอบเขตพื้นที่หรือระยะเวลาส่วนที่ขยายเพิ่มขึ้นยังคงไม่เกินวงเงินตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และ ทอท.ได้คิดค่าตอบแทนตามสัดส่วนของพื้นที่หรือระยะเวลาที่ขยายนั้นเพิ่มเติมด้วย
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวถึงข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนในช่วงนี้อาจมีข้อสมมติฐานในการคำนวณบางข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น อาทิ การที่ไม่ใช้เม็ดเงินลงทุนทั้งหมดในการคำนวณมูลค่าการลงทุน ซึ่ง ทอท.ยืนยันว่าหลักการที่ ทอท.ใช้มูลค่าทรัพย์สินเฉพาะช่วงอายุสัญญาดังกล่าวเป็นหลักการที่ใช้กันในทางสากล เนื่องจากทรัพย์สินที่เกิดจากการลงทุนมีอายุการใช้งานนานกว่าอายุสัญญามาก ดังนั้นมูลค่าทรัพย์สินในส่วนที่เกินอายุสัญญาจึงควรนำไปคิดในการหาผู้ร่วมทุน หรือผู้ประกอบการครั้งถัดไป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ใช้ทรัพย์สินจริงในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ การประเมินมูลค่าการลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ยังมีหลักการคำนวณทางเทคนิคที่อาจทำความเข้าใจได้ยากสำหรับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในสายวิชาชีพเฉพาะ แต่ ทอท.ขอยืนยันให้มั่นใจได้ว่า การประเมินมูลค่าการลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใสถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยจากการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีที่ผู้เกี่ยวข้องทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เพื่อช่วยเหลือกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ให้เป็นผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูมิภาค และได้รับสิทธิในการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ.โดยมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ได้ข้อสรุปเมื่อเดือน ธ.ค.54
โดย ป.ป.ช.ได้มีมติว่า "จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า (ชื่อ ผู้ที่เกี่ยวข้อง) กับพวกร่วมกันหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และกีดกันให้ผู้เสนอราคารายอื่นมิให้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม โครงการบริหารร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป" ซึ่งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถยืนยันถึงความถูกต้องในการปฏิบัติตามกฎหมายของคณะกรรมการและผู้บริหาร ทอท.ในอดีต
"การกล่าวหาว่า ทอท.ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ อันเป็นเหตุให้เกิดความบกพร่องในการบังคับใช้สัญญาที่เกิดขึ้นก่อนหน้าของคณะกรรมการและผู้บริหาร ทอท.ชุดปัจจุบันตามที่เป็นข่าวอาจสร้างความสับสนให้กับประชาชนและนักลงทุน อันนำมาซึ่งความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของ ทอท. ซึ่งยึดแนวทางการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลของรัฐบาล ดังนั้น ทอท.จึงจำเป็นต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างแพร่หลายต่อไป" นายนิตินัย กล่าว