นายกฯ ประชุมมินิคาบิเนต ขับเคลื่อนปฏิรูประบบสาธารณสุขรองรับสังคมเมือง-ผู้สูงอายุ-ลดเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสุขภาพ

ข่าวทั่วไป Monday June 5, 2017 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (มินิคาบิเนต) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นเรื่องการขับเคลื่อนด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการปฏิรูประบบสาธารณสุข (MOPH 4.0) ที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดทำแผนยุทศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุข ระยะ 20 ปี ตามนโยบายรัฐบาลที่จะนำประเทศไทยก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อรองรับอนาคตที่มีความเป็นสังคมเมือง สังคมผู้สูงอายุ และลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสุขภาพ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่จะขับเคลื่อนงานให้เกิดผลในช่วง 1 ปี 4 เดือนที่เหลือในการทำงานของรัฐบาลนี้ ด้วยยุทธศาสตร์ 3 เครื่องยนต์ ได้แก่ 1) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคง (Inclusive Growth Engine) 2) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่ง (Productive Growth Engine) 3) สร้างสมดุลในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน (Green Growth Engine) อาทิ การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เพื่อส่งเสริมการทำงานแบบประชารัฐ, การสร้างแรงจูงใจแพทย์ 3 สาขา คือ เวชศาสตร์ครอบครัว ระบาดวิทยา และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โดยออกระเบียบเงินเพิ่ม สำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขและความก้าวหน้าด้านวิชาชีพ โดยเฉพาะแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าผลิต 6,000 คน ขณะที่เวชศาสตร์ฉุกเฉินตั้งเป้าผลิตที่ 1,000 ตำแหน่ง ตลอดจนการสร้างบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเขตสุขภาพพิเศษตามแนวชายแดน

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบหลักการในการจัดสร้างคลีนิคครอบครัวเขตเมือง และงบประมาณสนับสนุน 150 บาทต่อคน เพื่อขับเคลื่อนให้ประชาชนเข้าถึงบริการคลีนิคหมอครอบครัวได้อย่างทั่วถึงและมีงบประมาณอย่างเพียงพอ ซึ่งประมาณการว่าหากดำเนินการไปจนครบ 10 ปี จะใช้เงินลงทุนดูแลสุขภาพประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่จะสามารถประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขได้ปีละ 50,000 ล้านบาท เพราะเป็นการดูแลพื้นฐานด้านสุขภาพ ทั้งป้องกันและดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้ โดยเป็นการคัดกรองก่อนส่งไปยังโรงพยาบาลใหญ่ อีกทั้งลดการแออัดของผู้ป่วยในแต่ละวันได้ร้อยละ 60 และลดรายจ่ายของประชาชนในการเดินทางไปโรงพยาบาล โดยหลังจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขจะนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาทำหลักเกณฑ์ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ปรับวิธีการจ่ายเงิน เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนคลีนิคหมดครอบครัว โดยเฉพาะในเขตเมืองก่อนที่จะขยายตัวไปยังอำเภอและชุมชนต่อไป

และที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการดำเนินงานตลอด 3 ปีของกระทรวงสาธารณสุข อาทิ คลีนิคหมอครอบครัว การบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินมีสิทธิ์ทุกที่ การดูแลผู้ป่วยโรคไตเสื่อม การพัฒนางานสมุนไพร การยุติการถ่ายทอดเชื่อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ