สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "เซ็ตซีโร่ กกต.ในสายตาประชาชน" โดยเมื่อสอบถามว่า ประชาชนให้ความสำคัญกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มากน้อยเพียงใด พบว่า อันดับ 1 ประชาชน 42.77% ตอบว่าให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นองค์กรอิสระที่มีความสำคัญต่อการจัดการเลือกตั้ง คอยควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยุติธรรมโปร่งใส ถ้าได้บุคคลที่ดีมีความรู้ความสามารถก็จะทำให้ประชาชนมั่นใจมากขึ้น ฯลฯ
อันดับ 2 ประชาชน 35.42% ตอบว่าค่อนข้างให้ความสำคัญ เพราะมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาถูกจับตามองเรื่องการปฏิบัติหน้าที่จากหลาย ๆ ฝ่าย อยากได้ กกต.ที่เข้ามาด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และมีคุณสมบัติที่ถูกต้องเหมาะสม ฯลฯ ขณะที่อันดับ 3 ประชาชน 17.39% ตอบว่าไม่ค่อยให้ความสำคัญ เพราะที่ผ่านมา กกต.ก็มีปัญหาและมีข่าวไม่ค่อยดีออกมาให้เห็นอยู่บ้าง ไม่เป็นกลาง ความน่าเชื่อถือลดลง อาจถูกอำนาจทางการเมืองแทรกแซง ฯลฯ และอันดับ 4 ประชาชนเพียง 4.42% ตอบว่าไม่ให้ความสำคัญ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ เป็นเรื่องไกลตัว ยังไม่ถึงกำหนดการเลือกตั้ง ฯลฯ
เมื่อถามว่า ประชาชนคิดอย่างไรจากการที่รัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้จำนวนกรรมการ กกต.จากเดิม 5 คน เพิ่มเป็น 7 คน โดยมีแนวทางหลายรูปแบบ ได้แก่ เปลี่ยนใหม่หมดทุกคน (เซ็ตซีโร่), เปลี่ยนเพียงบางคน (เฉพาะคนที่คุณสมบัติไม่ครบถ้วน) และไม่เปลี่ยนเลย (อยู่คงเดิมทุกคน) พบว่า อันดับแรก ประชาชนส่วนใหญ่ 49.25% ตอบว่าให้เปลี่ยนใหม่หมดทุกคน (เซ็ตซีโร่) เพราะจะได้เริ่มใหม่ เพื่อความยุติธรรมเท่าเทียม ได้คัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้ามาทำงาน อยากเห็นการทำงานที่มีแนวคิดใหม่ ๆ ฯลฯ
อันดับ 2 ประชาชน 41.82% ตอบว่าให้เปลี่ยนบางคน (เฉพาะคนที่คุณสมบัติไม่ครบถ้วน) เพราะบางคนยังมีคุณสมบัติครบถ้วน มีประสบการณ์ในการทำงาน เปลี่ยนเฉพาะคนที่ขาดคุณสมบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับ ป้องกันการถูกครหา ฯลฯ ส่วนอันดับ 3 ประชาชน 5.93% ตอบว่าไม่แน่ใจ และอันดับ 4 ประชาชน 3.00% ตอบว่าไม่เปลี่ยนเลย (อยู่คงเดิมทุกคน) เพราะคนเดิมทำงานดีอยู่แล้ว รู้และเข้าใจปัญหาเป็นอย่างดี ควรให้โอกาสในการทำงานต่อไป กังวลว่าจะกระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง ทำให้ล่าช้าออกไป ฯลฯ
สุดท้ายถามว่าประชาชนคิดว่าการเซ็ตซีโร่ กกต. จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนเวลาออกไปหรือไม่ พบว่าอันดับ 1 ประชาชน 43.64% ตอบว่าอาจจะต้องเลื่อนเวลาออกไป เพราะต้องใช้เวลาในการสรรหาคัดเลือก คนใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน อาจทำให้กระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง และเกิดความขัดแย้งจนทำให้ล่าช้า ฯลฯ
อันดับ 2 ประชาชน 34.39% ตอบว่าไม่แน่ใจ เพราะอาจเป็นเพียงกระแสข่าวลือจากข่าวที่นำเสนอยังไม่ชัดเจน ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเท่าที่ควร รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขเวลา ฯลฯ และอันดับ 3 ประชาชน 21.97% ตอบว่าคงจะไม่เลื่อนเวลาออกไป เพราะรัฐบาลทำงานยึดตามโรดแมป เป็นการปรับที่ตัวบุคคลไม่น่าจะมีผลกระทบหรือทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป คิดว่าเป็นคนละส่วนกัน น่าจะหาคนใหม่มาแทนได้ไม่ยาก ฯลฯ
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,265 คน ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายน 2560