ศาลปกครองกลาง พิพากษายกฟ้องคดีที่นายสมคิด หอมเนตร กับพวกรวม 27 คน ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ, คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, คณะกรรมการ บมจ.ปตท.และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, รมว.พลังงาน และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รวม 6 คน กรณีอนุมัติให้ออกสัมปทานปิโตรเลียมตามประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง เขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอ่าวไทยที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (รอบที่ 21) โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เนื่องจากมีการยกเลิกประกาศดังกล่าวไปแล้ว
"การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 6 ได้ออกประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง เขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอ่าวไทยที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ลงวันที่ 30 กันยายน 2557 จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดแล้ว...ในระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ยกเลิกประกาศการยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 21 และประกาศแก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด อันมีผลให้ประกาศการยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกและในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 21 นั้นเป็นอันสิ้นผลไป จึงไม่มีกรณีที่ศาลจะออกคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ระงับหรือยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดแปลงสัมปทานรอบที่ 21 ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเจ็ดคนแต่อย่างใด พิพากษายกฟ้อง" คำพากษาศาลปกครองกลาง ระบุ
โดยศาลฯ เห็นว่า ในการดำเนินการประกาศเขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอ่าวไทยดังกล่าว เป็นเพียงการคาดว่าแนวเขตพื้นที่ที่ประกาศน่าจะมีศักยภาพปิโตรเลียม เพื่อประกาศกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจให้เอกชนผู้สนใจยื่นขอสอิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ทราบว่ารัฐจะเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแนวเขตพื้นที่ใดเท่านั้น ในขั้นตอนนี้จังยังมิได้มีการดำเนินการตามมาตรฐานในการค้นหาปิโตรเลียม กรณีจึงยังไม่อาจถือได้ว่าการประกาศดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการที่รัฐจะเสียผลประโยชน์ดังที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 27 คนกล่าวอ้าง
แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ผู้ที่ได้รับสัมปทานย่อมต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ อันได้แก่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514, พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ ตลอดจนแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เมษายน 2555 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ได้รับสัมปทานต้องเริ่มปฏิบัติตั้งแต่การสำรวจปิโตรเลียมที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเก็บรักษา การขนส่ง จนถึงขั้นตอนการจำหน่ายปิโตรเลียม