พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โพสข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัววิจารณ์การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า รัฐบาลต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นและส่งเสริมให้เกิดความเจ็บป่วยมากขึ้นนั้น รัฐบาลขอยืนยันว่า การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่มีจุดอ่อนหลายประการ โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพียง 30 บาท เสมือนหนึ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดี แต่โรงพยาบาลของรัฐกลับ ได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการรักษาพยาบาล ทำให้ขาดทุนหมุนเวียน ส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการผู้ป่วย เช่น การบริการไม่มีมาตรฐาน ผู้ป่วยได้รับยาที่ไม่เหมาะสมเสี่ยงอันตราย และบุคลากรสาธารณสุขเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน เนื่องจากต้องทำงานหนักเกินกำลัง ฯลฯ จึงถือเป็นความอ่อนแอของระบบบริการสุขภาพ (Sick Care) ตั้งแต่เริ่มต้น
ส่วนเรื่องการอ้างว่า ปัจจุบันรัฐบาลอุดหนุนเงินเหมาจ่ายรายหัวไปให้พื้นที่ที่มีการเจ็บป่วยมาก แต่พื้นที่ที่ประชาชนมีสุขภาพดีเจ็บป่วยน้อยกลับได้รับเงินน้อยนั้น เป็นการกล่าวหารัฐบาลเกินความเป็นจริง เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ที่มีมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งรัฐบาลนี้เห็นว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม เพราะทุกพื้นที่ควรได้การดูแลอย่างเท่าเทียมตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดโรค ซึ่งเป็นหลักการของ Health Care ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการให้ประชาชนจ่ายค่ารักษาเมื่อมีอาการเจ็บป่วยแล้ว หรือเรียกว่า Sick Care โดยขณะนี้ สธ.และสปสช.กำลังร่วมกันแก้ไขปัญหาอยู่
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพคือ การปรับปรุงโครงการ 30 บาทให้ดีขึ้น และไม่ใช่การยกเลิก โดยรัฐบาลคำนึงหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลสวัสดิการด้านสาธารณสุขอยางเหมาะสม โดยไม่ไปไล่บี้กับประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลจึงได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับโรงพยาบาลของรัฐเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนประชาชนที่เข้ารับบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อเริ่มต้นโครงการในปี 2545 มีประชาชนเข้ารับบริการในสถานบริการ 102.9 ล้านครั้ง และเพิ่มขึ้นเป็น 153.4 ล้านครั้งในปี 2553 รวมทั้งเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน ส่วนในระยะยาวนั้นจะต้องแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณให้ได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียมกัน
“นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลดำเนินการเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคประชาชนทุกกลุ่มวัย (Health Care) มาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เน้นการสร้างนำซ่อม ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น ฝากครรภ์คุณภาพ แผนเสริมสร้างภูมิคุ้มโรคในเด็ก โรงเรียนพ่อ-แม่ หมอครอบครัว การป้องกันการขาดสารไอโอดีน สาวไทยแก้มแดง คัดกรองโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เมตาโบลิคซินโดรม โรคไต ความเสี่ยงโรคหัวใจ คัดกรองต้อกระจก มะเร็งปากมดลูก ธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ พัฒนาการเด็ก สุขภาพจิต และปีในปีหน้าจะเพิ่ม มะเร็งลำไส้ไหญ่ และให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ HPV ฯลฯ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก รวมทั้งยังผลักดันแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศ 4 ด้าน คือ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค การบริการ การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้วย"