นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ในเรื่องความปลอดภัยทางถนน ซึ่งได้ประชุมร่วมกันครั้งที่ 4 เพื่อประเมินผลและติดตามความก้าวหน้าของ 2 ฝ่ายว่า ในช่วงสงกรานต์ไทยได้นำมาตรการเข้มงวดมาใช้ใน 4 จังหวัด ทั้งกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบ โดยเริ่มจากมาตรการ"ขับช้า เปิดไฟหน้า คาดเข็มขัด" ได้นำมาจากประสบการณ์ญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้ทำเครื่องหมายบนถนน ทั้งเป็นตัวหนังสือ และเป็นทางหนืด นอกจากนี้ยังมีจุดติดตั้งป้ายบอกความเร็วของรถแต่ละคัน และบางจุดมีระบบการออกใบสั่งกรณีขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยมาตรการเปิดไฟหน้าช่วงกลางวันมีรถให้ความร่วมมือประมาณ 8-10% ซึ่งในรถรุ่นใหม่ไฟหน้าจะเปิดอัตโนมัติเมื่อสตาร์ทรถ ส่วนเรื่องความเร็ว ได้มีการบันทึกสถิติ ซึ่งทำให้ความเร็วลดลงประมาณ 10% เนื่องจากเริ่มตื่นตัว โดยจะมีการติดตั้งป้ายบอกความเร็วเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดการตระหนัก
อย่างไรก็ตาม ในปี 61 จะมีมาตรการในการเพิ่มจุดจอดรถ หรือ Rest Area เพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยเฉพาะรถบรรทุกที่หากจอดข้างทางมักจะเกิดอุบัติเหตุ
ส่วนกรณีช่วงเช้าที่ผ่านมาเกิดเหตุผู้โดยสารพลัดตกรางที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์เรลลิงก์ ที่สถานีบ้านทับช้างว่าก่อนหน้านี้ได้ย้ำกระบวนการดูแลความปลอดภัยสำหรับขนส่งมวลชนและบริการทุกระบบ ทั้งรฟม. บีทีเอส แอร์พอร์ตลิงก์ว่า ต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำชานชลา ซึ่งนอกจากให้ข้อมูลต่างๆ แล้วต้องดูเรื่องความปลอดภัยตลอดเวลา เพราะผู้โดยสารบางคนอาจไม่เข้าใจและอาจเดินเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงได้ จะให้เสริมมาตรการป้องกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกชานชลาแม้ว่าระบบจะเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่เพื่อความมั่นใจ
สำหรับแอร์พอร์ตลิงก์นั้น ปัจจุบันมีประตูกั้นชานชลามีอยู่ที่สถานีมักกะสันและสุวรรรภูมิ โดยอยู่ระหว่างประมูลติดตั้งระดับความสูงประมาณ 1.5 เมตร อีก 7 สถานี โดยได้รับงบประมาณปี 2560 แล้วขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะได้ตัวผู้รับจ้างในเดือนนี้และจะทยอยเสร็จตั้งแต่เม.ย. 61 เนื่องจากต้องมีระบบ ซอฟต์แวร์ ควบคุมการเปิด ปิด ให้ตรงกับประตูรถ และต้องกั้นไปสุดชานชลาเพื่อไม่ให้คนลงไปในรางได้
ส่วนเหตุการณ์กรณีเหตุโครงเหล็กนั่งร้านของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หล่นลงมาบนผิวจราจร ช่วงแยกบางขุนนนท์มุ่งหน้าท่าพระเมื่อค่ำวานนี้ (18 มิ.ย.)นั้น นายอาคมกล่าวว่า ได้ให้นโยบายเพิ่มเติมสำหรับกรณีที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยจะให้พิจารณา ว่าจะทำเป็นข้อกำหนดหนึ่งในเรื่องการพิจารณาให้คะแนนในการยื่นประมูลงานและการทำสัญญาในอนาคตด้วย ซึ่งถือเป็นบทการลงโทษแบบหนึ่ง แต่ทั้งนี้จะต้องดูมาตรการลงโทษเพิ่มเติม เพราะหลายประเทศใช้ประเด็นนี้เป็นข้อพิจารณาประกอบการให้คะแนนในการประมูล ไม่ได้ใช้เป็นข้อบังคับ ซึ่งหากเป็นประเทศที่มีผู้รับเหมาจำนวนมากการบังคับอาจไม่มีปัญหา แต่ถ้าประเทศที่มีผู้รับเหมาไม่มากขนาดนั้นการบังคับอาจจะมีปัญหา เพราะถ้าเข้มงวดมากๆ ก็อาจจะไม่มีผู้รับเหมาเลยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทางสภาวิศวกร จะมาตรวจสอบสาเหตุ หากพบว่า เป็นสาเหตุมาจาก วิศวกร ทางสภาวิศวกรก็มีบทลงโทษของตัวเอง
ด้านนายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์มีผู้โดยสารตกลงรางเสียชีวิตที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์ พอร์ต เรล ลิงก์ บ้านทับช้าง เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำชานชาลาพบเห็นเหตุการณ์จึงปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทันที ด้วยการกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินที่ชานชาลา และพนักงานควบคุมรถไฟฟ้ากดปุ่มหยุดรถฉุกเฉิน แต่ด้วยระยะทางที่กระชั้นชิดทำให้ไม่สามารถหยุดรถไฟได้ทัน จึงทำให้ผู้โดยสารหญิงคนดังกล่าวเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ประจำสถานีประสานศูนย์นเรนทร และเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟเข้าพื้นที่ โดยหลังตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเบื้องต้นพบว่าผู้โดยสารที่เสียชีวิตเป็นผู้หญิง อายุ 31 ปีส่วนสาเหตุการตกลงรางของผู้โดยสารอยู่ในระหว่างการสรุปผลของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทฯได้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างครบถ้วน ทั้งการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำชั้นชานชาลา ซึ่งประจำอยู่ทุกชานชาลาตลอดเวลาให้บริการ ที่คอยเน้นย้ำไม่ให้ผู้โดยสารยืนหลังเส้นสีเหลือง รวมทั้งเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินใดๆเจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าจะกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินทันที EB (Emergency brake) และบนชั้นชานชาลาก็จะมีปุ่มหยุดรถฉุกเฉินเช่นเดียวกัน ESP (Emergency Stop Plunger) และมีการควบคุมความหนาแน่นของจำนวนผู้โดยสารบนชั้นชานชาลามาโดยตลอด (Crowd Control) ทั้งการแจ้งโดยการประกาศที่สถานี และการแจ้งผ่านทางสื่อโซเชียลของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
นอกจากนั้นบริษัทฯ กำลังดำเนินการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา (Platform Screen Door) ซึ่งปัจุบันมีประตูกั้นชานชาลาที่สถานีสุวรรณภูมิเรียบร้อยแล้ว และกำลังดำเนินการในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งประตูกั้นชานชาลาเพิ่มอีก 7 สถานี มีกำหนดยื่นซองประกวดราคาวันที่ 29 มิ.ย.60 แข่งขันประกวดราคา (E-Auction) วันที่ 27 ก.ค.60 คาดว่าจะเซ็นสัญญาจ้างกลางเดือนส.ค.60 โดยหลังจากได้ผู้รับจ้างแล้ว จะเร่งดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด