พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้รายงานปัญหาการจัดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมทั้งระบุว่าในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) จะมีการจัดเวทีเสวนาให้ความรู้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนไปร่วมรับฟังอีกครั้งที่โรงแรมเซ็นทาราฯ ศูนย์ราชการ ซึ่งจะเป็นการตีแผ่ข้อเท็จจริงร่างเดิมกับร่างใหม่ว่ามีอะไรที่แตกต่างกันใน 14 ประเด็น
อย่างไรก็ตาม รมว.สาธารณสุข ยืนยันว่า ในสิทธิบัตรทองที่มีอยู่วันนี้ หรือบัตร 30 บาทยังมีอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ถูกลิดรอนสิทธิ แต่เนื้อหา พ.ร.บ.ฉบับใหม่ สรุปได้ว่าแตกต่างจากฉบับเดิมในเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อยา
"รมว.สาธารณสุข แจ้งว่าในวันพรุ่งนี้เวลา 09.00 น.ที่ รร.เซ็นทารา ศูนย์ราชการจะมีผู้เกี่ยวข้องไปจัดเวทีเสวนาให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชิญสื่อมวลชนทุกแขนงไปร่วมรับฟัง ซึ่งจะมีการตีแผ่ร่างพ.ร.บ.ฉบับเดิมกับฉบับใหม่ว่าแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งมีความแตกต่างอยู่ประมาณ 14 ประเด็น ในแต่ละประเด็นประชาชนสูญเสียสิทธิประโยชน์หรือสูญเสียการดูแลรักษาพยาบาลในประเด็นไหนบ้าง ถ้าไม่มีการสูญเสียเลย เป็นการคงไว้ซึ่งสิทธิเหมือนเดิม แล้วมีเหตุผลอะไรจึงมีความพยายามในการล้มเวทีประชาพิจารณ์" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พร้อมระบุว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2545 มุ่งเน้นการซ่อมสุขภาพหรือการรักษาเป็นหลัก จึงมีคำว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บริการ และสำนักงานส่งเสริมประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อ ซึ่งที่ผ่านมาการติดต่อประสานงานของทั้ง 2 หน่วยงานอาจจะมีข้อติดขัด แต่ปัจจุบันในรัฐบาลนี้การติดต่อประสานงานดีขึ้น สิ่งใดที่เคยขัดข้อง คสช.ก็ได้ออกคำสั่งมาตรา 44 แก้ปัญหาไปให้บ้างแล้ว
ทั้งนี้ รมว.สาธารณสุข รายงานว่าในการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติขณะนี้อยู่ในชั้นของการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ 4 ครั้ง อยู่ในพื้นที่กรุงเทพ 1 ครั้ง ในภูมิภาค 3 ครั้ง ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน แต่ก็มีความพยายามจะล้มเวทีประชาพิจารณ์ นายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้ รมว.สาธารณสุข ไปทำความเข้าใจกับประชาชน
"รมว.สาธารณสุข ยืนยันในที่ประชุม ครม.ว่า สิทธิบัตรทองหรือที่เรียกว่า 30 บาทรักษาทุกโรคยังมีอยู่เหมือนเดิม ประชาชนไม่ได้ถูกลิดรอนสิทธิในการดูแลสุขภาพเลย สิทธิในการรับบริการ สิทธิประโยชน์ต่างๆของประชาชนยังอยู่ แต่เนื้อหาใจความของร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่แตกต่างจากฉบับเดิมในเรื่องของการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการจัดซื้อยา ซึ่งเดิม สปสช.มีหน้าที่ในเรื่องนี้ แต่เมื่อมีการซื้อขายยากันเยอะๆ ก็มีส่วนลด ส่วนลดก็มีการกันสัดส่วนกันชัดเจนที่จะสามารถมอบให้ NGO ที่จะนำไปทำภารกิจ ซึ่งตามกฎหมายฉบับเดิมไม่ได้มีการเขียนไว้ว่าให้สามารถทำแบบนี้ได้ แต่ก็มีการทำกันมาแบบนี้ แต่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายว่าเงินงบประมาณที่ใช้ดูแลประชาชนต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ คือใช้ซื้อยาดูแลประชาชนเป็นหลัก แต่ถ้า NGO จะขอใช้บางส่วนก็ต้องว่ากันเป็นเรื่องๆ ไป แต่ไม่ใช่เอาไปกอดไว้" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ