พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ตามแนวริมน้ำ ผู้ประกอบการ ตลอดจนการประกอบอาชีพประมง
ทั้งนี้ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ฉบับล่าสุด กำหนดให้ผู้ที่สร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ กีดขวางการเดินเรือ กีดขวางการใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม บ้านริมน้ำ เรือนแพ กระชังเลี้ยงปลา หลักผูกเรือ ซึ่งกำหนดให้ผู้กระทำผิดมาแจ้งต่อกรมเจ้าท่าภายใน 4 เดือน หรือครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2560 แต่พบว่ามีผู้มาแจ้งเพียง 3 หมื่นราย จากทั้งหมดกว่า 1 แสนราย เนื่องจากค่าปรับแพงมากตั้งแต่ 1,000 บาทไปจนถึง 20,000 บาทต่อตารางเมตร และหากแจ้งให้รื้อถอนแล้วไม่ดำเนินการภายในกำหนดจะถูกปรับอีกไม่เกินวันละ 20,000 บาท
"นายกฯ ปรารภว่า จริงๆ ในอดีตกาลที่ผ่านมาหากเจ้าหน้าที่เข้มงวด ดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ปล่อยปละละเลย มันก็จะไม่เกิดเรื่องนี้ แต่รัฐบาลนี้ต้องการแก้ไขให้ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการของกฎหมาย ไม่ให้รุกล้ำสาธารณะ รุกล้ำทรัพยากรธรรมชาติจนเกิดผลกระทบขึ้นในวันข้างหน้า" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
สำหรับกฎหมายดังกล่าว มีมาตั้งแต่ปี 2456 ที่ผ่านมามีการแก้ไขปรับปรุงต่อเนื่องจนถึงล่าสุด 17 ครั้งแล้ว ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2560 หากผู้กระทำผิดมาแจ้งก็ถือว่ารับสภาพต้องถูกปรับ ดังนั้น จึงมีผู้มาแจ้งน้อยมาก
"วันนี้จึงจำเป็นต้องมีมติเห็นชอบให้ยืดระยะเวลาให้ประชาชนมาแจ้งเพิ่มเติม ในเบื้องต้นอีก 60 วัน และเจ้าหน้าที่จะพิจารณาอนุญาตให้หรือไม่ภายใน 180 วัน ถ้าใครมาแจ้งจะไม่มีโทษย้อนหลังเรื่องค่าปรับ" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากเป็นการรุกล้ำในอดีตที่ไม่ผิดกฎหมาย เช่น บ้านเรือน ท่าเรือ ก็จะเสียค่าเช่าตารางเมตรละ 5 บาท ถ้าเป็นกระชังเลี้ยงปลาจะไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็จะช่วยลดผลกระทบให้กับประชาชนได้ แต่ถ้าเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมายต้องรื้อทิ้ง