พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง สมาคมประกันวินาศภัยไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร และบริษัทผู้รับจ้าง เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีอุบัติเหตุจากการก่อสร้างส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2558 – ปัจจุบัน เกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ – รังสิต) จำนวน 8 ครั้ง, สายสีม่วง (บางใหญ่ – บางซื่อ) จำนวน 2 ครั้ง, สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ – ท่าพระ) จำนวน 3 ครั้ง, สายสีเขียว (หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต) จำนวน 6 ครั้ง ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า อาทิ บ้านทรุดแตกร้าว อุปกรณ์การก่อสร้างร่วงหล่นใส่รถยนต์ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย การจราจรติดขัดเนื่องจากการปิดกั้นพื้นผิวการจราจรเกินความจำเป็น รวมถึงถนนทรุด ผิวการจราจรชำรุด และการก่อสร้างเสาโครงสร้างกีดขวางท่อระบายน้ำ กีดขวางท่อบำบัดน้ำเสีย ปิดกั้น ตัดระบบท่อระบายน้ำ และปรับลดขนาดของท่อระบายน้ำที่มีการทำบายพาส อีกทั้งส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำในภาพรวมของกทม. ซึ่งสาเหตุและที่มาของปัญหางานก่อสร้างมีหลายสาเหตุ อาทิ ขาดการวางแผนระบบการจราจร การควบคุมงานที่ไม่ดีไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ความประมาทเลินเล่อของผู้รับจ้าง ขาดความตระหนักต่อส่วนรวม และภัยธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน อาทิ การจราจร ด้านการระบายน้ำ ผิวการจราจรชำรุด และเกิดอุบัติเหตุ
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา กทม. ได้หารือ รฟม. และบริษัทผู้รับจ้างเกี่ยวกับกฎ กติกา มารยาทในการก่อสร้าง และให้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง และมาตรการแก้ไขปัญหาการจัดจราจรระหว่างก่อสร้าง โดยให้นำเสนอเป็นแผนต่อสำนักการโยธา เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และหากต้องมีการปิดกั้นหรือตัดระบบท่อระบายน้ำของกทม. ขอให้ประสานความร่วมมือกับสำนักการระบายน้ำในการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของกทม.
พร้อมกันนี้ ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของความปลอดภัยของการก่อสร้าง โดยแจ้งให้ รฟม. และบริษัทผู้รับจ้างทราบมาตรการและขั้นตอนการขอใช้และส่งมอบพื้นที่สาธารณะในการก่อสร้าง รวมถึงเงื่อนไขแนบท้ายการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ 36 ข้อ อาทิ ขอบเขตการส่งมอบ แผนการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างแผนการจราจรในการขนส่งวัสดุ การรื้อย้ายทรัพย์สินและอุปกรณ์งานทาง การรื้อย้ายสาธารณูปโภคและต้นไม้ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การระงับการก่อสร้างชั่วคราว การสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขแบบฯ ความรับผิดชอบของ รฟม. และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากโครงการไหนมีปัญหาไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด กทม. จะระงับการก่อสร้างชั่วคราวตามสิทธิในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ หากเข้าข่ายกรณีใดกรณีหนึ่ง อาทิ จะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายหรือเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน หรือไม่เป็นไปตามแผนงานการจราจรที่ กทม.ได้พิจารณาแล้ว และกรณีที่ กทม. พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไข โดยเมื่อมีการปรับปรุงให้ได้มาตรฐานแล้วจึงจะอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป
"ด้วยความเป็นห่วงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงได้แจ้ง รฟม. และบริษัทผู้รับจ้างรับทราบว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใด สถานีใด มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือใดๆ หล่นมาโดนประชาชนหรือทรัพย์สินของประชาชน กทม. จะสั่งระงับการก่อสร้างอย่างน้อย 3 วัน โดยจะไม่อนุญาตให้การระงับดังกล่าวเป็นเหตุให้บริษัทผู้รับจ้างมาเรียกร้องขยายสัญญาจ้าง และหากยังเกิดเหตุซ้ำซาก ก็จะดำเนินการยกเลิกสัญญาจ้าง" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว