นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งค่อนข้างมาก หรือมีปริมาณน้ำท่าในลำน้ำโดยเฉลี่ยประมาณ 41% ของความจุลำน้ำ เนื่องจากยังอยู่ในภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้มีฝนตกน้อยลง ทำให้แม่น้ำสายหลักต่างๆ จึงสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก โดยในวันนี้(3 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 542 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 7.06 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 313 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน(3 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,890 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 56% มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,198 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอใช้ตลอดฤดูฝนนี้ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,300 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมาก 8 แห่ง คือ เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว และเขื่อนหนองปลาไหล กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเตรียมรองรับฝนที่จะตกลงมาอีก
สำหรับสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,303 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 45% ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,188 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 4,607 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,500 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาวะฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด กรมชลประทาน และกฟผ. ยังคงระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวมกันวันละประมาณ 30.65 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในระดับ +16.50 เมตร(รทก.) ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้อย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน