กรมชลฯ เตรียมปรับปรุงเขื่อนน้ำอูนครั้งใหญ่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ-เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

ข่าวทั่วไป Wednesday July 12, 2017 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมปรับปรุงเขื่อนน้ำอูนครั้งใหญ่หลังใช้งานมานานกว่า 50 ปี เพิ่มปริมาณการเก็บกักเป็นกว่า 600 ล้านลบ.ม. และขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นเป็น 210,000 ไร่ พร้อมพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำและปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใหม่ให้เหมาะสม รองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มั่นใจช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำและความมั่นคงในอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

โดยโครงการนี้ กรมชลประทานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน จังหวัดสกลนคร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งลดภาวการณ์เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ และอุทกภัยในพื้นที่โครงการตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในเรื่องการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) โดยการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำและระบบชลประทานเดิม

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ขณะนี้การศึกษาได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีข้อสรุปว่าจะต้องมีการปรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำใหม่ ลดการระบายน้ำเขื่อนน้ำอูนในช่วงฤดูฝน เพื่อเก็บน้ำต้นทุนไว้ให้ได้มากที่สุด แล้วไปใช้น้ำจากลำน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ในลุ่มน้ำ แต่ยังไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์แทน ด้วยการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ นอกจากนี้ยังจะผันน้ำจากลุ่มน้ำสาขาอื่นๆมาเก็บกักในเขื่อนน้ำอูน ซึ่งจะได้ปริมาณน้ำอีกประมาณ 10 ล้านลบ.ม. พร้อมทั้งเสริมสันฝายของเขื่อนน้ำอูนสูงขึ้นอีก 1 เมตร จะทำให้เพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำอีก 84 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็น 604 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับระบบส่งน้ำ เดิมนั้นจะมีทั้งคลองส่งน้ำสายใหญ่ คลองซอย และคลองแยก ในพื้นที่บางส่วนจะต้องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร ทำให้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าค่อนข้างแพง จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นระบบท่อส่งน้ำด้วยแนวโน้มถ่วงแทนการสูบ ซึ่งจะช่วยประหยัดทั้งค่าไฟฟ้า ลดการสูญเสียน้ำ สามารถส่งน้ำไปถึงพื้นที่ปลายคลองได้อย่างทั่วถึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด คาดว่าเมื่อการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูนแล้วเสร็จะสามารถขยายพื้นที่ชลประทาน สร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำได้เพิ่มจากเดิมคือ 185,800 ไร่ เป็นมากกว่า 210,000 ไร่อย่างแน่นอน

“นอกจากนี้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำจะร่วมบูรณาการตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล ในการจัดระบบการปลูกพืชใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพดิน น้ำ อากาศ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน"นายสมเกียรติกล่าว

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน จะรับผิดชอบและบริหารจัดการน้ำต้นทุนจากเขื่อนน้ำอูน ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ มีอายุมากกว่า 50 ปี ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2516 โดยสร้างกั้นลำน้ำอูน สาขาของลุ่มน้ำสงคราม ที่ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร มีความจุในระดับกักเก็บ 520 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกในการเขตประทานได้ 185,800 ไร่ และที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรโดยมุ่งในด้านการพัฒนารูปแบบธุรกิจการเกษตร ระหว่างภาคเอกชนและเกษตรกรในการใช้น้ำชลประทานให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เพื่อยกมาตรฐานการครองชีพของราษฎร ทำให้ในปัจจุบันเกษตรกรในเขตโครงการนับได้ว่าเป็นเกษตรกรก้าวหน้าและเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในท้องถิ่นอื่น

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้ เนื่องจากแนวโน้มการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการขยายพื้นที่ส่งน้ำสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร และพื้นที่ข้างเคียง รวมทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้น้ำในพื้นที่โครงการ ทำให้การบริหารจัดการน้ำทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ในขณะที่ระบบชลประทานและอาคารก่อสร้างมาเป็นเวลานานมีการสูญเสียน้ำมาก เช่น การรั่วซึม ส่งน้ำไม่ถึงปลายคลอง ทำให้น้ำเริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการส่งน้ำในพื้นที่สูงซึ่งต้องใช้สถานีสูบน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่อีกทอดหนึ่ง รวมถึงปัญหาดินเค็มในบางจุดอีกด้วย

ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้เต็มศักยภาพของลุ่มน้ำ กรมชลประทานจึงระดมนักวิชาการจากสถานบันการศึกษา ศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูนร่วมกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งการศึกษาครอบคลุมในทุกๆด้านทั้งด้านด้านวิศวกรรม การบริหารจัดการ เศรษฐกิจ สังคม การมีส่วนร่วม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสภาพการใช้ที่ดินในปัจจุบันและอนาคต ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ประยุกต์ใช้ Agri Map รวมทั้งระบบการเกษตรและแผนการปลูกพืชที่เหมาะสม การจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ และรูปแบบองค์กรบริหารจัดการน้ำชลประทานที่เหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ