นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ โฆษกคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. .... เปิดเผยว่า การดำเนินการ (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เนื่องจากที่ผ่านมา 15 ปี มีข้อขัดข้องและปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการและส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนจากการทักท้วงของหน่วยตรวจสอบ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยไม่ได้ลิดรอนสิทธิด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนแต่อย่างไร
ทั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง หลากหลายช่องทาง พร้อมนำทุกๆ ประเด็น ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างๆ จากทุกภาคส่วน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ที่มี นายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานกรรมการ และมีองค์ประกอบอื่นๆ ดังนี้ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 5 คน ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 คน ผู้แทนหน่วยงานอื่นของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 คน และมีภาคประชาชน 5 คน ได้แก่ นายอัมมาร สยามวาลา ​มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ​มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นางยุพดี ศิริสินสุข ​​ผู้แทนองค์กรเอกชน (ผู้ติดเชื้อ เอชไอวีฯ)​ นายสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ​ผู้แทนองค์กรเอกชน (ด้านผู้สูงอายุ) นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ​กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จะเห็นได้ว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ สำหรับกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม ได้นำประเด็นที่มีปัญหาและประเด็นอื่นๆที่สมควรแก้ไข รวมทั้งคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 37/2559 มาเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข อย่างมีส่วนร่วมด้วยความรอบคอบรอบด้าน ในกรอบเวลา 6 เดือนเศษ รวมทั้งได้ปฏิบัติภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพให้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและยั่งยืน โดยสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนได้รับไม่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ การจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ฉบับนี้เดินทางมาถึงช่วงท้ายๆ ของการดำเนินการและยังสามารถดำเนินการต่อได้ ส่วนการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ทั้งเห็นร่วมและเห็นต่างสามารถดำเนินการได้ตามหลักประชาธิปไตย ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้