ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การปรับคณะรัฐมนตรี" โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีในช่วงเวลาที่เหมาะสม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 80.32% ระบุว่า เห็นด้วย เพราะคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันยังทำงานและแก้ไขปัญหาได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ บางคนอาจจะยังขาดประสบการณ์ในการบริหารประเทศ ประชาชนต้องการเห็นคนใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับตำแหน่งเข้ามาทำงาน มีวิสัยทัศน์หรือนโยบายใหม่ ๆ สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน มีการเปลี่ยนแปลงของประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น รองลงมา 12.56% ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญของประเทศ หากมีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง หลาย ๆ นโยบายหรือโครงการต่าง ๆ จะไม่ต่อเนื่อง ควรให้โอกาสในการทำงานจนเสร็จสิ้น บางส่วนระบุว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้ทำงานได้ดีอยู่แล้ว อีกทั้งสถานการณ์และเหตุการณ์บ้านเมืองยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่อีก 6.40% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนใน 5 อันดับแรก เกี่ยวกับเหตุผลที่ต้องการให้มีการปรับตำแหน่งคณะรัฐมนตรีในครั้งถัดไป อันดับแรก ประชาชนส่วนใหญ่ 45.12% ระบุว่า ผลงานที่ผ่านมายังไม่เป็นที่ถูกใจของประชาชนส่วนใหญ่ แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด อันดับสอง 30.80% ระบุว่า รัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยบางท่านมีความรู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่ง อันดับสาม 28.56% ระบุว่า รัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีช่วยบางท่านยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอในการบริหารประเทศ อันดับสี่ 28.08% ระบุว่า ต้องการสร้างความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์การทำงานของรัฐบาลที่ดีขึ้น และอันดับห้า 15.84% ระบุว่า เป็นการหมุนเวียนตำแหน่งการทำงานของคณะรัฐมนตรี
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกระทรวงใน 5 อันดับแรก ที่ต้องการให้มีการสลับสับเปลี่ยนการทำงานของคณะรัฐมนตรีมากที่สุด พบว่า อันดับแรกประชาชนส่วนใหญ่ 18.40% ระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันดับสอง 9.04% ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงศึกษาธิการ ในสัดส่วนที่เท่ากัน อันดับสาม 6.88% ระบุว่า กระทรวงมหาดไทย อันดับสี่ 5.28% ระบุว่า กระทรวงการคลัง และอันดับห้า 5.12% ระบุว่า กระทรวงกลาโหม ขณะที่มีเพียง 3.04% ระบุว่า ไม่ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี โดยมีประชาชน 19.60% ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19 – 20 กรกฎาคม 2560