นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสภาวะอากาศเมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (24 ก.ค. 60) พายุโซนร้อน “เซินกา" (SONCA) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 500 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 17.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.3 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 35 นอต หรือ 65 กม./ชม. ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า พายุลูกนี้จะเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ โดยจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 และจะเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขัง ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ พร้อมกับเข้าไปบรรเทาทุกข์และลดความเดือดร้อนให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม ให้เตรียมพร้อมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โดยกรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมขังเดิม จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน“ตาลัส” ให้จับตาเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยให้คงเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา หากพื้นที่ใดมีแนวโน้มที่จะเกิดสภาวะวิกฤติ ให้รีบดำเนินการชี้แจงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อทำการแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำต่างๆที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก บริหารจัดการน้ำ ด้วยการลดระดับน้ำในอ่างฯให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ (Rule curve) อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ(Inflow) มากกว่าความจุของอ่างฯ รวมไปถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ (water shade area) ที่เมื่อฝนตกหนักจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องเฝ้าระวัง ติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์เป็นพิเศษ
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน (24 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำรวมกัน 44,394 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 10,229 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 30,800 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,235 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 3,376 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 5,539 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 12,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม น้ำสูงสุด (upper rule curve) 11 แห่ง คือ กิ่วลม , กิ่วคอหมา , แควน้อยบำรุงแดน , น้ำอูน , น้ำพุง , อุบลรัตน์ , ลำพระเพลิง , สิรินธร , ป่าสักชลสิทธิ์ , ทับเสลา และกระเสียว
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในวันนี้ (24 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,144 ลบ.ม./วินาที (สูงสุด 1,394 ลบ.ม./วินาที วันที่ 17 ก.ค 60) ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +15.50 ม.(เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) มีการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกในปริมาณ 242 ลบ.ม./วินาที เพื่อเตรียมพื้นที่ไว้รองรับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดจากฝนตกชุกในระยะต่อไป