นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวในต่างประเทศพบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในฮ่องกงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวจริง ซึ่งทางประเทศไทยจะประสานกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องในฮ่องกง เพื่อยืนยันข้อมูลอีกครั้ง
สำหรับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในฮ่องกงครั้งนี้เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ส่วนใหญ่ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H3N2) แต่ยังไม่พบรายงานการดื้อยาหรือกลายพันธุ์ของเชื้อ จึงไม่พบว่ามีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด และทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีคำแนะนำห้ามการเดินทางไปยังประเทศดังกล่าว จึงยังไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนเป็นกรณีพิเศษสำหรับการเดินทางไปยังประเทศนั้นๆ แต่ขอแนะนำผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและต้องเดินทางไปในเมืองที่มีการระบาดมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนเดินทาง และดูแลสุขภาพของตนเอง หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัดหรือมีผู้คนอยู่จำนวนมาก ไม่คลุกคลีผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ใส่หน้ากากอนามัย หากมีอาการป่วยในขณะอยู่ต่างประเทศหรือกลับมายังประเทศไทยแล้วก็ตาม ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยโรคต่อไป
สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีน คือผู้มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กก. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) โดยสามารถรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ฟรีที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ตั้งแต่บัดนี้–31 สิงหาคม 2560 หากมีอาการไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีไข้สูง ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว
ด้านสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยปีนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 43,082 ราย เสียชีวิต 5 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 15-24 ปี (ร้อยละ 11.4) อายุ 25-34 ปี (ร้อยละ 10.7) และอายุ 10-14 ปี (ร้อยละ 10.6) ตามลำดับ ส่วน 5 จังหวัดแรกที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ลำพูน เชียงใหม่ ระยอง กรุงเทพมหานคร และอุตรดิตถ์ ตามลำดับ
สำหรับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ขอแนะนำประชาชนใช้มาตรการ "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" ได้แก่ 1.ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย 2.ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันใด ราวบนรถโดยสาร 3.เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ