สมาคมต่อต้านโลกร้อน เรียกร้อง หน.คสช.ปลด "รมว.เกษตรฯ-อธิบดีกรมชลประทาน"ออกจากตำแหน่ง

ข่าวทั่วไป Saturday July 29, 2017 13:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ ขอเรียกร้องกรมชลประทาน : หยุดบิดเบือนข้อมูลข่าวสารกรณีเขื่อนห้วยทรายขมิ้น จ.สกลนครแตก และขอเรียกร้องให้หน.คสช.ปลดอธิบดีกรมชลประทาน และ รมว.เกษตรฯออกเสีย

จากกรณีที่มีพายุ “เซินกา(Sonca)" พาดผ่านพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือในหลาย ๆ จังหวัดเป็นเหตุให้เกิดพายุและฝนตกหนักน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ในขณะนี้นั้น แต่ปรากฏว่าในพื้นที่จังหวัดสกลนคร โดยเฉพาะพื้นที่เขื่อนห้วยทราย มีการปล่อยปละละเลยให้มีการกักเก็บและสะสมปริมาณน้ำในเขื่อนไว้เป็นปริมาณมากกว่า 3.05 ล้านลูกบาศ์กเมตร เกินกว่าปริมาตรความจุของเขื่อนจะรองรับได้เพียง 2.66 ล้านลูกบาศ์กเมตร ทำให้เกินน้ำล้นคันเขื่อนจนเป็นเหตุให้สันเขื่อนแตกยาวมากกว่า 20 เมตร ทำให้เกิดน้ำทะลักกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงสู้ด้านท้ายของเขื่อนไปท่วมพื้นที่ ต.ขมิ้น ต.พังขว้าง ซึ่งมีบ้านเรือน เทือกสวน ไร่นา รถยนต์ของชาวบ้านและพื้นที่ทางการเกษตรจมอยู่ในน้ำ ก่อให้เกิดความเสียหายหลายร้อยหลายพันล้านบาท จนยากที่จะประเมินได้ในปัจจุบัน

แต่ทว่ากรณีที่เกิดขึ้นกรมชลประทานกลับออกมาชี้แจงบิดเบือนข้อมูลข่าวสารผ่านเอกสารเผยแพร่ของกรมฯว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียง “การกัดเซาะสันเขื่อนลึกประมาณ 4 เมตรยาว 20 เมตร" เท่านั้นและยังอ้างอีกว่า “ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำใดใดที่แตกร้าว ทุกอ่างยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี" การให้ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนดังกล่าวเป็นกลวิธีสร้างการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของกรมชลประทานที่ควรชี้แจงแถลงไขข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ควรแจ้งให้ประชาชนทราบตามที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 76 ให้การคุ้มครองไว้ ซึ่งยังผลให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น เพราะประชาชนเกิดการชล่าใจจนไม่สามารถป้องกันแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมอย่างฉับพลันได้

กรณีที่เกิดขึ้นสมาคมขอเรียกร้องมายัง ฯพณฯนายกรัฐมนตรีและหรือหัวหน้า คสช. ได้โปรดระงับปัญหาเสียแต่ต้นโดยการสั่งปลด “อธิบดีกรมชลประทาน" และ “รมว.กระทรวงเกษตรฯ" ในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ออกไปเสียจากตำแหน่งเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแต่งตั้งบุคคลที่มีความพร้อมมีความสามารถและไม่มีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชนมาทำหน้าที่แทนเสียโดยพลัน จึงจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาสู่รัฐบาลได้

ทั้งนี้ขอเสนอให้เขื่อนทุกเขื่อน(อ่างเก็บน้ำ)ของกรมชลประทานทุกแห่ง จะต้องมีการประเมินความเสี่ยง ละจัดทำแผนรองรับความเสี่ยง และมีการวางระบบการแจ้งข้อมูลสถานการณ์ของน้ำหรืออุทกวิทยาให้ประชาชนท้ายเขื่อนทราบในทุกช่องทาง เพื่อที่ประชาชนจะได้เตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที และอย่างได้ใช้อำนาจรัฐและเครื่องมือสื่อสารของรัฐบิดเบือนข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนอีกต่อไปเลยด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ