นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (วอร์รูม) ส่วนกลางเต็มรูปแบบ โดยมอบให้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อรวบรวบข้อมูลทั้ง 19 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม วางแผนการช่วยเหลือสนับสนุนพื้นที่ เช่น ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ช่วยป้องกันควบคุมโรค สนับสนุนทีมแพทย์ฉุกเฉิน หรือทีมเมิร์ท (MERT) เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ส่งยาช่วยน้ำท่วมไปทุกจังหวัดที่ประสบภัยแล้ว ในส่วนบุคลากรขณะนี้โรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ โรงพยาบาลอุดรธานี เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ และหนองคาย ส่งทีมเมิร์ทและทีมมินิเมิร์ท หมุนเวียนไปตรวจรักษาประชาชนที่ศูนย์พักพิงสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลสกลนคร
สำหรับสถานการณ์ที่จังหวัดสกลนครได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนครว่า ปริมาณน้ำบริเวณโดยรอบของโรงพยาบาลลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เข้าในตัวอาคารโรงพยาบาลเปิดให้บริการตามปกติ ห้องฉุกเฉินเปิด 24 ชั่วโมง ประชาชนสามารถเดินทางมารับบริการได้ ขณะนี้รถฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่างๆ สามารถเข้ามารับ-ส่งผู้ป่วยได้ ยังคงจัดหน่วยแพทย์ให้บริการประชาชนที่ศาลากลางจังหวัดสกลนคร และศูนย์พักพิงชั่วคราวทั้ง 5 แห่ง คือ ศูนย์พักพิงโรงยิม องค์การบริหารส่วนจังหวัด ศูนย์พักพิงโรงเรียนอนุบาลสกลนคร ศูนย์พักเด็กและครอบครัว ศูนย์พักพิงวัดพระธาตุเชิงชุม
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงไปยังประชาชน ป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ไม่ควรลงเล่นน้ำบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง น้ำเชี่ยว ไม่ดื่มของมึนเมา ผู้ที่มีโรคประจำตัวไม่ควรอยู่ตามลำพัง ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยเด็กให้อยู่ตามลำพัง และควรสำรวจเฝ้าระวังบริเวณบ้าน รอบบ้าน เช่น พื้นไม้ที่ผุพังหรือที่ตะใคร่ขึ้น ทางเดินบนสะพานที่ไม่แข็งแรง เป็นต้น พร้อมกันนี้ ขอให้ระวังโรคฉี่หนูที่อาจมากับน้ำท่วม หากมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำ ย่ำโคลน ให้รีบพบแพทย์ทันที