ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560” ระบุว่า นายจ้างส่วนใหญ่ 86.65% เห็นด้วยที่ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยควรมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รองลงมา 9.45% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ, 3.80% ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และ 0.10% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ยังไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ นายจ้างส่วนใหญ่ 77.60% เห็นว่าในภาพรวมมีความเหมาะสมที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผู้กระทำผิดจะได้รับบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น และยังเห็นว่าควรมีกฎหมายฉบับนี้ เพื่อลดปัญหาการค้ามนุษย์ ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น โดยการนำแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยป้องกันการรีดไถจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยังมีส่วนช่วยลดปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวได้อีกด้วย
นอกจากนี้แล้วกฎหมายฉบับนี้ยังให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ทำให้ไม่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ แต่ก็มีนายจ้างจำนวนไม่น้อยเห็นว่าควรมีการผ่อนปรนในระยะแรกก่อน เพื่อให้นายจ้างสามารถขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวนอกกฎหมายได้ทันเวลา เนื่องจากขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวยังไม่ได้รับความสะดวกในหลายขั้นตอน และสุดท้ายผลพลอยได้ในระยะแรก คือ การลดจำนวนลงของแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย
ขณะที่ 22.40% ระบุว่าไม่เหมาะสม เพราะทำให้ภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยในส่วนนี้รัฐบาลควรทบทวนการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง และปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบคือ การให้เวลาในการดำเนินการขึ้นทะเบียนในช่วงแรกน้อยเกินไป การไม่ได้รับความสะดวกในการดำเนินการ และมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้นายจ้างไม่สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานได้ทัน จนทำให้แรงงานส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศเพราะกลัวบทลงโทษของกฎหมาย ซึ่งนายจ้างส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่าเป็นอัตราโทษที่รุนแรงเกินไป ทั้งนี้ความคิดเห็นจากนายจ้างส่วนหนึ่งมองว่วกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และปัญหาแรงงานต่างด้าวได้ทั้งหมด การบังคับใช้กฎหมายฉบับเดิมมีความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่สาเหตุของปัญหาน่าจะมาจากการขาดความต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ และการทำงานด้วยความไม่ซื่อสัตย์
ส่วนกรณีที่รัฐบาลออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้มาตรการการลงโทษที่รุนแรงและค่าปรับที่สูง โดยยืดระยะเวลาออกไปจนถึงสิ้นปี 60 นายจ้าง 35.25% เห็นด้วยมาก เพราะผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวต้องการเวลาใน การดำเนินการขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย มิเช่นนั้นแล้วจะเกิดปัญหาที่ตามมากับผู้ประกอบการ คือ การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งในระหว่างนี้รัฐบาลควรกลับไปทบทวนข้อดีข้อเสียของกฎหมายดังกล่าวให้รอบคอบ เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีก นายจ้างอีก 25.80% ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะมีการชี้แจงรายละเอียดก่อนการบังคับใช้จริง และมีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเหมาะสม ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานและปัญหาอื่น ๆ แต่มีนายจ้างอีก 3.80% และ 3.15% ไม่เห็นด้วยเพราะการทำงานของหน่วยงานรัฐมีความล่าช้าจึงควรขยายเวลาดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวออกไปอีก เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และต้องการให้กลับไปใช้กฎหมายเดิมจากหลายสาเหตุ เช่น รัฐบาลทำงานไม่ต่อเนื่อง นายจ้างละเลยหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนให้กับแรงงานต่างด้าว
สำหรับผลที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว นายจ้างส่วนใหญ่ 38.90% ระบุว่าส่งผลให้ขาดแคลนแรงงาน รองลงมา 15.55% ระบุว่า เกิดการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวทั้งระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามด้วย 11.45% ระบุว่า ช่วยให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในด้านการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์, 11.30% ระบุว่า ลดความเสี่ยง ป้องกันการบังคับรีดไถแรงงานต่างด้าว, 9.60% ระบุว่า ผู้ประกอบการรายย่อยขาดทุน และล้มเลิกกิจการ, 8.60% ระบุว่า ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
นายจ้างส่วนใหญ่ 58.35% ไม่แน่ใจว่าอัตราโทษค่าปรับที่สูงขึ้นกรณีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐบางรายฉวยโอกาสบีบเรียกเงินใต้โต๊ะจากนายจ้าง/ผู้ประกอบการ/แรงงานต่างด้าวหรือไม่ แต่นายจ้าง 33.05% เชื่อว่าการทุจริตเกิดขึ้นได้เสมอในสังคมไทย และเจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนหนึ่งไม่เกรงกลัวต่อการกระทำผิด ทั้งนี้เป็นผลมาจากผู้ประกอบการส่วนหนึ่งต้องการได้รับความสะดวกในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย ซึ่งมีลำดับขั้นตอนยุ่งยาก และเป็นผลจากการมีอัตราค่าปรับรุนแรงทำให้นายจ้างที่ทำผิดกฎหมายไม่ต้องการจ่ายค่าปรับเต็มจำนวน
สิ่งที่นายจ้างมีความกังวลมากที่สุดกรณีมีลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมากสุด 62.65% คือเรื่องอัตราโทษที่สูง เช่น อัตราโทษปรับ และจำคุก รองลงมา 10.35% กังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงาน, 4.80% กังวลเรื่องความสะดวกในขั้นตอนการขึ้นทะเบียน และการต่อทะเบียนแรงงานต่างด้าว, 4.75% กังวลเรื่องการถูกตรวจสอบการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย, 1.90% กังวลเรื่องต้นทุนการผลิต/ต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น, 1.70% กังวลเรื่องการรีดไถจากเจ้าหน้าที่, 1.15% กังวลเรื่องการเรียกร้องสิทธิของแรงงาน, 0.90% กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ, 0.45% กังวลเรื่องการก่ออาชญากรรม, 0.05% กังวลเรื่องแรงงานต่างด้าวไม่ให้ความร่วมมือในการขึ้นทะเบียน และ 0.05% กังวลเรื่องภาพลักษณ์ของสถานประกอบการ/ธุรกิจ
ทั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ระหว่างวันที่ 10-18 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นนายจ้างหรือเจ้าของกิจการ พนักงานฝ่ายบุคคล และผู้จัดการ ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไปรวมทั้งสิ้นจำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง