นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานในปัจจุบัน ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำชี ณ สถานีวัดน้ำ E.2A อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ปัจจุบันระดับน้ำล้นตลิ่ง 1 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก่อนไหลเข้าสู่เขื่อนยโสธร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร รวมถึงลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี ได้แก่ ลำน้ำพอง มีระดับสูงเกือบจะล้นตลิ่งเช่นกัน ลำน้ำลำปาว ณ สถานี E.75 อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 344 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ลำน้ำสงคราม ณ สถานี KH.93 อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.39 เมตร ลำน้ำยัง ลำน้ำห้วยหลวง และลำน้ำเลยมีระดับน้ำล้นตลิ่งบางแห่ง
ส่วนลุ่มน้ำมูล มีน้ำล้นตลิ่งที่ลำเซบายลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลก่อนถึงสถานีวัดน้ำ M.7 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยปัจจุบันแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M.7 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,414 ลบ.ม./วินาที (ความจุลำน้ำ 2,300 ลบ.ม./วินาที) ระดับสูงกว่าตลิ่ง 0.19 เมตร (เวลา 6.00 น.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงลำเซบก ลำโดมใหญ่ ที่อยู่ท้ายสถานี M.7 มีระดับน้ำล้นตลิ่งบางแห่ง
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้ติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ทันเหตุการณ์
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด (upper rule curve) มีจำนวน 13 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา, แควน้อยบำรุงแดน, น้ำอูน, ห้วยหลวง, น้ำพุง, อุบลรัตน์, ลำปาว, สิรินธร, ป่าสักชลสิทธิ์, ทับเสลา, กระเสียว, หนองปลาไหล และประแสร์ โดยอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ระหว่าง 80 – 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 123 แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 139 แห่ง
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานและโครงการชลประทานที่รับผิดชอบในพื้นที่ติดตาม วิเคราะห์ และเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยลดระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าความจุของอ่างเก็บน้ำ รวมถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ (Watershed area)