กรมชลประทาน เผยสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างในเขตปริมณฑลยังปกติ สั่งเตรียมรับมือน้ำเหนือและฝนตกในพื้นที่ เร่งพร่องน้ำในคลองไม่ให้เกิดภาวะน้ำท่วม และช่วยแบ่งการระบายน้ำของกทม. พร้อมวางแผนฉุกเฉินหากเกิดวิกฤตใช้ที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงตัดยอดน้ำรอการระบาย
นายพงศ์ศักดิ์ อรุณวิจิตรสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานชลประทานที่ 11 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือฝนตกหนักและน้ำเหนือที่จะไหลลงมาแล้ว โดยได้ทำการพร่องน้ำในคลองทุกคลองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและปลอดภัย ด้วยการเดินเครื่องสูบน้ำ และเปิดประตูระบายน้ำ ผ่านทางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองเปรมประชากร คลองหาวาสายล่าง ระบบสูบน้ำริมฝั่งเจ้าพระยา เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้เกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ และไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ รวมทั้งช่วยรองรับการแบ่งน้ำจากกรุงเทพมหานครด้วย
นอกจากนี้ยังใช้คลองระพีพัฒน์แยกใต้ ระบายน้ำเหนือผ่านคลอง 13 คลองพระองค์ไชยานุชิต และคลองในแนวเหนือ-ใต้ เพื่อสูบระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย พร้อมทั้งระบายน้ำผ่านคลองรังสิตประยูรศักดิ์ และคลองหกวาสายล่าง ผันไปทางตะวันออก ผ่านแม่น้ำนครนายก บางปะกง ลงสู่อ่าวไทย อีกด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนที่จะเข้าสู่เขตกรุงเทพมหานคร ณ สถานีวัดน้ำบางไทรยังอยู่ในเกณฑ์ปกติล่าสุดอัตราการไหลเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,720 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังต่ำกว่าเกณฑ์วิกฤตคือ 3,000-3,500 ลูกบาศก์ต่อวินาที
ดังนั้นในช่วงนี้ยังระบายน้ำผ่านคลองต่างๆ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อออกทะเลอ่าวไทยได้ โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อพื้นที่ที่อยู่ในคันกั้นน้ำ ส่วนพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะมีน้ำท่วมบ้างเฉพาะในช่วงที่น้ำทะเลหนุนแต่จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น
“สถานการณ์น้ำในพื้นที่ปริมณฑลในขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะเกิดน้ำท่วม ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงมาทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีผลกระทบต่อลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีปริมาณน้ำเพียงร้อยละ 53 ของปริมาณความจุเท่านั้น ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุด มีปริมาณน้ำเพียงร้อยละ 35 ของปริมาณความจุ สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 621 ล้านลูกบาศก์เมตร”นายพงศ์ศักดิ์ กล่าว
ส่วนฝนที่ตกในพื้นที่นั้น ยังไม่มีสัญญาณพายุใดๆที่จะพัดผ่านในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงนี้ ฝนที่ตกเป็นฝนตามฤดูเท่านั้น ซึ่งในพื้นที่ปริมณฑลทั้ง 4 จังหวัด มีสถานีสูบน้ำที่สามารถสูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และสูบลงทะเลรวมกันได้ถึงวันละ 122 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 12 นิ้ว สำรองไว้อีกมากกว่า 300 เครื่อง ดังนั้นประชาชนสบายใจได้ว่าจะไม่เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในช่วงนี้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามคาดว่า หลังจากเดือนกันยายน 2560 อาจจะเกิดพายุหรือมีฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมรับมือไว้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ซึ่งหากเกิดภาวะวิกฤต จะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณทุ่งบางบาล และทุ่งเจ้าเจ็ด เป็นแก้มลิงธรรมชาติเพื่อตัดยอดน้ำรอการระบาย โดยได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังในเดือนกันยายน 2560 แล้วอย่าเพิ่งทำนาปีต่อเนื่อง ปล่อยพื้นที่นาให้ว่างเพื่อใช้เป็นแก้มลิงเก็บน้ำต่อไป