นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกับกรมชลประทาน พบว่า กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ โดยการพร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไว้รองรับน้ำหลากจากบริเวณตอนบนของประเทศ ซึ่งปัจจุบันน้ำได้ไหลหลากลงสู่แม่น้ำน่านบริเวณจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และไหลมารวมกับแม่น้ำปิงที่จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มสูงขึ้น อาจส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยามีน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสาน (ปภ.) จึงได้ประสาน 7 จังหวัด ภาคกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เตรียมพร้อมรับมือเฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ กรมชลประทาน และอาสาสมัครมูลนิธิ เตรียมพร้อมกำลังพล วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เรือ รถ ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัคร ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งด้านเหนือและด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เกษตรกร ที่ประกอบอาชีพประมง เพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์บริเวณริมน้ำ บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง
หากสถานการณ์น้ำท่วมสูงให้อพยพไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป