พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มสิทธิของลูกจ้าง
กฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญ ได้แก่
1.กำหนดให้นายจ้างที่ผิดนัดการจ่ายเงิน ให้เสียดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี อาทิ กรณีไม่จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทน ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ไม่จ่ายเงินกรณีหยุดกิจการ
2.การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างต้องได้รับการยอมรับจากลูกจ้าง และให้นายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิหน้าที่
3.กำหนดให้งานที่มีคุณค่าเท่ากันลูกจ้างชายหรือหญิงได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกัน
4.กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระจำเป็นโดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าสามวันทำงาน การให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนกำหนดคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง การให้ลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานได้รับค่าชดเชยเพิ่มขึ้นเมื่อถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด
5.กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบการไปยังสถานประกอบการเดิมที่มีอยู่แล้ว ถือเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการ และลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างและขอรับค่าชดเชยพิเศษจากนายจ้างได้ เป็นต้น
"(ข่อ 4) กรณีถูกเลิกจ้าง เดิมทำงานมานาน 10 ปี นายจ้างชดเชยให้ 300 วัน ของใหม่ทำงานมา 20 ปี นายจ้างต้องชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว