พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร รับทราบรายงานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เกี่ยวกับข้อเสนอแผนงานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรายงานผลการประชุม กนช.ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบในการกำหนดพื้นที่เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 พื้นที่ ครอบคลุม 18 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดในลุ่มน้ำเลยตอนล่าง ลุ่มน้ำเลยห้วยหลวง ลุ่มน้ำแม่น้ำสงคราม ลุ่มน้ำพุงน้ำก่ำ ลุ่มน้ำชีตอนบน ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ลุ่มน้ำมูลตอนบน และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง
โดยกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะที่เป็นฝ่ายเลขานุการของ กนช.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์พื้นที่ภัยแล้งทั้งประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 84.2 ล้านไร่ คิดเป็น 26.5% ของพื้นที่ทั้งประเทศ โดยพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 40.9 ล้านไร่ หรือ 49% ของพื้นที่ทั้งหมด
ขณะที่พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 45.4 ล้านไร่ คิดเป็น 14% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ส่วนพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีทั้งสิ้น 15.9 ล้านไร่ หรือ 35% ของพื้นที่ทั้งประเทศ
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบให้กรมชลประทาน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ เสนอโครงการที่มีความพร้อมเพื่อที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมปี 2561 อีก 348 โครงการ เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 8,820 ล้านบาท จะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ทั้งหมดรวม 4.49 แสนไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 107 ล้านลบ.ม.เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งครอบคลุมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน 8 พื้นที่ที่กล่าวมาแล้ว
พร้อมทั้งเห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการ กนช. รวบรวมแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาว (ปี 2563-2569) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยแผนงานดังกล่าวจะต้องสามารถแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่า 70% ของพื้นที่เสี่ยงรุนแรง และ 50% ของพื้นที่ทั้งหมด
อีกทั้งรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำตามที่ฝ่ายเลขานุการ กนช. เสนอ และให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินการแก้ไข จัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ หรือกำหนดมาตรการรองรับกรณีเกิดอุทกภัย หากสิ่งกีดขวางดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยกำหนดให้การแก้ไขสิ่งกีดขวางลำน้ำทั้งหมดต้องแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 สำหรับสิ่งกีดขวางทางน้ำ จำนวน 12 แห่ง ที่ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ กรมทรัพยากรน้ำ จะได้ประสานกับทางจังหวัดเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขต่อไป