กรมชลฯแจ้งเตือนแม่น้ำน่านที่เมืองน่านเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ล้นตลิ่งหลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน ประเมินสภาพน้ำท่าในแม่น่านเพิ่มสูงขึ้น แจ้งจังหวัดให้เฝ้าระวังแล้ว
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพฝนในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่าที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน มีฝนตกหนักในช่วงกลางดึกของคืนที่ผ่านมา(25 ส.ค. 60) โดยจังหวัดเชียงรายเกิดฝนตกหนักบริเวณอำเภอแม่สาย วัดปริมาณฝนสูงสุดได้ 139 มิลลิเมตร ทำให้มีน้ำไหลหลากลงสู่แม่น้ำมะ แม่น้ำสายก่อนจะไหลไปรวมกันที่แม่น้ำรวก และไหลลงสู่แม่น้ำโขงตามลำดับ ส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณตำบลเวียงพางคำ ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับจังหวัดน่าน ฝนที่ตกหนักในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา(25 ส.ค. 60) ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนบริเวณอำเภอทุ่งช้า วัดปริมาณฝนสูงสุดได้ 95.88 มิลลิเมตร และวันนี้(26 ส.ค. 60)วัดได้สูงสุด 77.9 มิลลิเมตร
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ได้ประเมินสถานการณ์น้ำในแม่น้ำน่าน พบว่าบริเวณสถานี N.64 บ.ผาขวาง อ.เมืองน่าน ระดับน้ำอยู่ที่ 5.68 เมตร(รทก.) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 621.2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 3.82 เมตร โดยคาดว่าระดับน้ำสูงสุดจะอยู่ที่ระดับ 5.80 – 5.85 เมตร(รสม.) ปริมาณน้ำ 650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่ำว่าตลิ่ง 3.65 เมตร(ตลิ่ง 9.50 เมตร) ในช่วงเวลาประมาณ 16.00 – 19.00 น.วันนี้(26 ส.ค. 60) และคาดว่าหลังเวลา 19.00 น. ปริมาณน้ำจะเริ่มลดลง ส่วนที่สถานี N.1 หน้าสำนักงานป่าไม้น่าน ในเขตอ.เมืองน่าน มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 587.0 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อยู่ที่ระดับ 4.40 เมตร(รสม.) ต่ำกว่าตลิ่ง 2.60 เมตร และคาดว่าระดับน้ำจะสูงสุดที่ 4.70 – 4.75 เมตร(รสม.) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 2.25 เมตร(ระดับตลิ่ง 7 เมตร) ในช่วงเวลาประมาณ 01.00 – 04.00 น.ของวันที่ 27 ส.ค. 60 จากนั้นคาดว่าหลังเวลา 04.00 น. ปริมาณน้ำจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังฝนที่จะตกลงมาอีก จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาข่า" ในช่วง 27- 28 ส.ค. นี้ กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ รายงานสถานการณ์น้ำต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกโครงการชลประทาน เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ เข้าไปประจำในพื้นที่เสี่ยงภัยที่จะเกิดน้ำท่วมเพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ จึงขอให้ประชาชนติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย